xs
xsm
sm
md
lg

ไก่ ไม่ใช่สาเหตุของเกาต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมอนุ้ย” ย้ำการบริโภคเนื้อไก่ไม่ได้ทำให้เป็นโรคเกาต์ ผู้ที่เป็นเกาต์ยังกินไก่ได้ โดยแนะนำให้ควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่พอดี

แพทย์หญิง ศศพินทุ์ วงษ์โกวิท (หมอนุ้ย) ศัลยแพทย์หญิง เจ้าของเพจ หมอนุ้ย และช่อง TikTok doctor nuiz กล่าวว่า เนื้อไก่ เป็นเนื้อสัตว์กลุ่มเนื้อขาว โปรตีนสูง ไขมันน้อย แคลอรีต่ำ มีวิตามินและแร่ธาตุ มีเส้นใยละเอียดที่ดีต่อสุขภาพ ย่อยง่าย กลิ่นคาวน้อย สามารถรับประทานได้ทุกคน เหมาะกับทุกช่วงวัย

“สำหรับผู้ที่กังวลว่าการบริโภคเนื้อไก่จะทำให้เป็นโรคเกาต์ ขอยืนยันว่าโรคเกาต์ไม่ได้เกิดจากการกินไก่” แพทย์หญิง ศศพินทุ์กล่าวย้ำ


โรคเกาต์ เกิดจากการที่กรดยูริกไปตกผลึกอยู่ตามข้อต่างๆ และเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวด บวม แดงบริเวณข้ออย่างเฉียบพลัน จึงเรียกว่า เป็นโรคเกาต์ การวินิจฉัยโรคเกาต์ไม่ใช่การเจาะเลือดแล้วเจอกรดยูริกสูง แต่จะพบได้จากการเจาะน้ำไขข้อ แล้วเจอการตกผลึกของกรดยูริกในข้อ ซึ่งข้อที่มักจะเกิดการตกผลึกและเป็นเกาต์จะเป็นข้อที่อยู่ในที่เย็น เช่น ข้อนิ้วโป้งเท้า แม้แต่หลังหูก็สามารถเป็นได้




อาหารที่ทำให้กรดยูริกสูงไม่ได้ทำให้เป็นโรคเกาต์ แต่อาหารบางประเภทกระตุ้นให้อาการของโรคเกาต์กำเริบขึ้นมาได้ อันดับแรกคือ แอลกอฮอล์ โดยเฉพาะ เบียร์ แนะนำให้เลิก อันดับสองคือ อาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อย่างตับ รวมถึงอาหารทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอยทะเล ที่จะมีพิวรีนสูงมาก ส่วนเนื้อไก่แม้จะมีพิวรีนแต่อยู่ในระดับต่ำกว่าอาหารที่กล่าวมา และอันดับสาม แนะนำให้เลี่ยงคือ กลุ่มน้ำตาลอุตสาหกรรม ไฮฟรักโทสคอร์นไซรัป ซึ่งเป็นน้ำตาลที่อยู่ในน้ำอัดลมและขนมขบเคี้ยว




ทั้งนี้ โรคเกาต์ เป็นโรคที่ต้องปรับสมดุลกรดยูริกตลอดเวลา อาหารที่ควรบริโภคคือ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน แป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ถั่ว ธัญพืช ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้น้ำหนักไม่ไปกดตรงข้อที่เป็นโรคได้




กำลังโหลดความคิดเห็น