“กสอ.” หรือดีพร้อม แถลงนโยบาย ประจำปี 2567 ชูนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ภายใต้กลยุทธ์หลัก 3 ด้าน ปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY ) ปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) ปรับเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (RESHAPE THE ACCESSIBILITY) ตั้งเป้าปี 2567 สามารถส่งเสริมและพัฒนายกระดับผู้ประกอบการกว่า 18,400 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากกว่า 10,000 ล้านบาท
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) หรือดีพร้อม เปิดเผยว่า ปี 2567 ดีพร้อมมีแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม โดยได้กำหนดนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต เพื่อเป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานที่สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก (Megatrends) ภายใต้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและสังคมโลกยุคใหม่ ให้กลุ่มเป้าหมายทุกระดับสามารถยืนหยัดรับมือและปรับตัวให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านกลยุทธ์ 3 ด้าน โดยมีเป้าหมายการส่งเสริมและพัฒนายกระดับผู้ประกอบการกว่า 18,400 ราย คาดจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์ 3 ด้าน ได้แก่ 1. ปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) ผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DIGITAL TRANSFORMATION) ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม การส่งเสริมเศรษฐกิจสูงวัย เศรษฐกิจสุขภาพ (AGING SOCIETY) ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการด้าน Wellness & Healthcare ให้สอดคล้องกับผู้บริโภคในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (SOFT POWER) สนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับมูลค่า ผลิตภัณฑ์ไทย กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งพัฒนาให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในสาขาอาหารและแฟชั่น เป็นต้น
2. ปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) ผ่านการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค (ECONOMIC CORRIDOR) ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทานให้กับสินค้าและบริการที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมเป้าหมายของแต่ละพื้นที่ รวมถึงการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและชุมชนมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง และการพัฒนาชุมชนตามแนวคิด “ชุมชนเปลี่ยน” (COMMUNITY TRANSFORMATION) ด้วยการเปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อมโดยบริบทของอุตสาหกรรม มุ่งเน้น เป็นต้น
3. ปรับเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (RESHAPE THE ACCESSIBILITY) ผ่านการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (FINANCIAL INCLUSION) โดยพัฒนากลไกการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกันหรือหลักประกันไม่เพียงพอให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ภายใต้ความร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และสถาบันการเงินต่างๆ พร้อมทั้งเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการไทยผ่านเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับความต้องการของแต่ละกลุ่ม และการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างองค์ความรู้ เป็นต้น