“ศุภมาส” ลงพื้นที่ปัตตานี มอบนโยบายและหนุนเสริมภารกิจของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ ชูปัตตานีเมืองแห่งปูทะเล พร้อมดันเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่แก้จน ย้ำ อว. ต้องเป็นที่พึ่งประชาชน นำนวัตกรรมแก้ปัญหาปากท้อง พัฒนาคุณภาพชีวิต
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง อว.ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานีเพื่อมอบนโยบายและหนุนเสริมภารกิจของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) รับฟังผลการดำเนินงานด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการสำคัญที่มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวง อว. ผ่านหน่วยบริหารโปรแกรม (Program Management Unit : PMU) ในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัยเเละนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ
โดย น.ส.ศุภมาส กล่าวมอบนโยบายสำคัญของกระทรวง อว. คือ ให้สถาบันการศึกษามีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมเพื่อความเป็นเลิศและเพื่อความมั่นคงของชีวิตและเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้น “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” โดยเน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รมว.กระทรวง อว. มอบหมายให้ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง อว. ทำหน้าที่กำกับติดตามและให้ข้อเสนอแนะการทำงานของสถาบันการศึกษาเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การเกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาควิชาการ ภาคราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน
จากนั้น น.ส.ศุภมาส และ พญ.เพชรดาว ได้ชมผลงาน และผลิตภัณฑ์ในโครงการวิจัยของ ม.อ.ปัตตานี อาทิ โครงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเลในพื้นที่ภาคใต้ สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การตลาด และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งมุ่งยกระดับจังหวัดปัตตานีให้เป็นเมืองแห่งปูทะเล
โครงการการพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม ซึ่ง 3 สถาบันการศึกษาในพื้นที่ คือ ม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบชี้เป้า
โครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างเสริมศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี เน้นการนำทุนทางวัฒนธรรมทั้งด้านประวัติศาสตร์ ด้านวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้มาสร้างคุณค่าและสร้างมูลค่า
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ผลงานเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับประเด็นมุ่งเน้นของกระทรวง อว. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงาน อว. จับมือและมีส่วนร่วมกับพื้นที่และชุมชน เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนั้น ขับเคลื่อนงานวิจัยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจได้ อีกทั้งยังสอดคล้องกับประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ อว. ต้องทำทันที คือ การนำนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยเฉพาะ ปัตตานีซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของชายแดนภาคใต้ ด้วยศักยภาพของพื้นที่ที่มีทรัพยากรทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์ มีภาคประมงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดและยังเป็นพื้นที่ที่มีจุดเด่นในด้านการเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มโลกมุสลิม เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่อย่างเด่นชัด
“ตนมุ่งมั่นให้กระทรวง อว. ต้องเป็นความหวัง เป็นที่พึ่งของประชาชนในการพัฒนาเศรษฐกิจและทำให้คนไทยมีอนาคตที่ดี เพราะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมของคนไทยน้ั้นถือเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด” น.ส.ศุภมาส กล่าว