“พิมพ์ภัทรา” โชว์ผลงาน 90 วัน ผ่านการดำเนินงานขับเคลื่อน 3 แกนหลัก ย้ำการบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด พัฒนาระบบการรายงาน ด้านสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยมลพิษ แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรม แร่โปแตช ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 3 เดือนที่สามารถทำได้ทันที เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นรายได้มวลรวมของประเทศ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 3 แกนหลัก คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม โดยแบ่งการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เน้นบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด รวมถึงพัฒนาระบบการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ) จัดงาน “อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ และส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ภายใต้แนวคิด “ชอป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด”
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งสร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก.เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ สมอ.ยังเร่งผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยกำหนดมาตรฐาน EV แล้วเสร็จ จำนวน 150 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมอีก 29 มาตรฐาน รวมทั้งกำหนดมาตรฐานเครื่องยนต์ เพื่อควบคุมการระบายมลพิษเป็น EURO 5 และ EURO 6
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เร่งผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตช 3 โครงการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตแร่โปแตชได้ภายใน 3 ปี โครงการเหมืองแร่โปแตชจะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมในประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร นอกจากนี้ โครงการเหมืองแร่โปแตชยังจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เร่งจ่ายเงินตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2565/2566 โดยมีราคาเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 1,197.53 บาทต่อตัน กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 โดยมีราคาที่ 1,420 บาทต่อตัน และแจกพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยไปปลูกและขยายพันธุ์ จำนวน 900,000 ต้น
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มุ่งเน้นดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจตาม Mega Trend ของโลก การพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา และข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยด้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนั้น สศอ.ได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 5 สาขา เพื่อเป็น New Growth Engine ในการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สศอ.ยังได้จัดทำข้อเสนอการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลและคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เติบโตอย่างยั่งยืน
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park เพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบในการพัฒนาเชิงนิเวศและนวัตกรรม นอกจากนี้ กนอ.ยังได้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ในอนาคต ปัจจุบัน กนอ.มีนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมรวม 68 แห่ง ใน 16 จังหวัด มีพื้นที่รวม 190,150 ไร่ มีโรงงานอุตสาหกรรมรวม 4,862 โรง มูลค่าการลงทุนรวม 10.84 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งสิ้น 984,723 ราย