กกร.นัดหารือ 10 ม.ค.นี้ เตรียมประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2567 ให้สอดรับกับทิศทางต่างๆ รับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงต้องติดตามใกล้ชิดเพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างหลีกเลี่ยงยาก หนุนรัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้น ศก.เพิ่มเติม พร้อมปรับโครงสร้างพลังงานแบบยั่งยืน
นายเกียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยจะหารือประจำเดือนมกราคม 2567 ในวันที่ 10 ม.ค. โดยเบื้องต้นคงจะต้องมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2567 อีกครั้งเพื่อให้สอดรับกับทิศทางต่างๆ ทั้งแนวโน้มการท่องเที่ยว การส่งออก การลงทุนทั้งรัฐและเอกชน ที่ยอมรับว่าปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงกดดันการเติบโตของทั้งเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างมีนัยสำคัญ
“ต้องดูตัวเลขสุดท้ายของเดือนธันวาคม 2566 จากทางรัฐบาลจึงจะสามารถระบุได้ว่าจะปรับเป้าหมายไปในทิศทางใด ซึ่งยอมรับว่าความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มมีหลายพื้นที่ทั้งในทะเลแดง และล่าสุดในคาบสมุทรเกาหลี เหล่านี้ต้องติดตามใกล้ชิด” นายเกรียงไกรกล่าว
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจไทยเองก็ยังคงเผชิญกับหนี้ครัวเรือนในระดับสูง จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ควบคู่กับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมาโดยเร็ว นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเร่งดูแลค่าครองชีพประชาชนนับเป็นแนวทางที่ดีโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า แต่จะยั่งยืนกว่าหากรัฐบาลปรับโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่ายโดยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงานเพื่อระดมความเห็นทุกภาคส่วนเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างพลังงานทั้งระบบที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน
นายเกรียงไกรยังกล่าวถึงกรณีที่มีการจัดอันดับพาสปอร์ตที่ทรงอิทธิพลในโลกซึ่งไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 68 ของโลกจากเดิมอันดับที่ 65 สะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก โดยต้นตอหลักๆ น่าจะมาจากกับดักภาพลักษณ์ของไทยกับการขายแรงงานข้ามชาติ ทั้งในตะวันออกกลาง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิสราเอล และไต้หวัน รวมทั้งปัญหาทำงานผิดกฎหมาย ทำงานแฝง
“การที่ไทยถูกจัดอันดับดังกล่าวเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ยังห่างไกลกันมาก ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาความสามารถทางการแข่งขันโดยเฉพาะการลงทุน เพราะตัว passport ranking จะมีส่วนในการดึงการลงทุนต่างชาติเข้ามา เช่นสิงคโปร์ที่มีวีซ่าเข้าออกประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้มากถึง 192 ประเทศ รองจากญี่ปุ่น อันดับหนึ่งของโลก 193 ประเทศ มาเลเซีย 179 ประเทศ หากรัฐบาลเร่งปรับภาพลักษณ์และเร่งพัฒนาประเทศให้หลุดกับดักรายได้ปานกลางก็จะทำให้สิ่งเหล่านี้ดีขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว