ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม พ.ย. 66 แตะ 90.9 ปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนหลังจากอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวรับเทศกาลปลายปี ท่องเที่ยวหนุน มาตรการดูแลค่าครองชีพรัฐหนุน แนะรัฐตรึงค่าไฟงวด 1/67 ที่ 3.99 บ./หน่วย ต่ออายุตรึงดีเซล 30 บ./ลิตร และกลุ่มเบนซินต่อเนื่อง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนพ.ย. 66 ว่า ดัชนีฯ อยู่ระดับ 90.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 88.4 ในเดือน ต.ค. และปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในประเทศโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนทั้งการปรับราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา มาตรการพักหนี้เกษตรกร ส่งผลให้การบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศดีขึ้น ขณะที่ภาคส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้นและมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มในเทศกาลช่วงปลายปี
“ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.3 ปรับเพิ่มขึ้นจาก ต.ค. แต่เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันเอกชนมีความกังวลต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเนื่องจากผู้ประกอบการต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังกดดันการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ตลอดจนความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจยืดเยื้อและรุนแรง” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1. ต้องการให้พิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดที่ 1 (ม.ค.-เม.ย. 67) สำหรับภาคการผลิต ให้อยู่ระดับเดิมเฉลี่ยที่ 3.99 บาท/หน่วยและเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงานซึ่งมั่นใจจะได้ข้อสรุปใน 2 เดือนเพื่อให้เป็นธรรมทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้
2. เสนอให้รัฐขยายเวลามาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล 29.94 บาทต่อลิตรที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 66 รวมถึงมาตรการลดราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซินลง 2.50 บาทต่อลิตที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 66 เพื่อลดภาระให้แก่ประชาชนซึ่งดูจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่อ่อนตัวลงภาครัฐน่าจะสามารถดำเนินการได้
3. ขอให้รัฐเข้มงวดการตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพโดยเฉพาะสินค้าออนไลน์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมทั้งสกัดกั้นการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ดัชนีเชื่อมั่นฯ เดือน พ.ย. ผู้ประกอบการทุกระดับปรับตัวเพิ่มขึ้นหมด โดยเฉพาะเพิ่มขึ้นจากการบริโภคภายในประเทศ การส่งออกทิศทางดีขึ้น สิ่งที่กังวลคือต้นทุนการเงินทางธนาคารพาณิชย์ยังคงสูง หนี้ครัวเรือนยังไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ประกอบกับสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกันเอลนีโญปี 2567 เป็นเรื่องที่กังวลเพราะจะกระทบต่อปริมาณ สินค้าภาคเกษตรจะลดลงและกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหาร