วิกฤตโควิด-19 ในปี 2563 ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยติดลบ 6.1% จากนั้นเศรษฐกิจไทยก็ค่อยๆ ฟื้นตัว และในปี 2567 ที่กำลังจะมาถึง บรรดา "กูรู" ทางด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่ต่างออกมาฟันธงล่วงหน้าไปในทิศทางเดียวกันว่าไทยจะมีศก.โตเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 2.8-3.3% จากปี 2566 ที่คาดว่าจะโตประมาณ 2.5% โดยตัวเลขดังกล่าวส่วนใหญ่มีการรวมเอามาตรการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเข้าไปผนวกไว้แล้ว.... ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้ายังเสี่ยงโตต่ำไม่ถึง 3% เป็นปีที่ 6 ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็ตั้งคำถามว่าหากต้องอัดเงินเข้าไปมากมายเพื่อเพิ่มแรงซื้อแต่ทำให้เศรษฐกิจโตเพิ่มแค่ 1% กว่าๆ นั้นมันคุ้มกันหรือไม่ … ท่ามกลางความเห็นที่ต่างกันออกไปของภาคเอกชนที่อีกส่วนก็เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเพื่อให้เกิดแรงเหวี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าเพียงแต่รัฐต้องบริหารจัดการปิดความเสี่ยงที่หลายฝ่ายกังวลให้ได้ ดังนั้นในยุคที่ความไม่แน่นอนมีสูงการจะดำเนินนโยบายใดๆ ที่ใช้เม็ดเงินปริมาณมากแถมยังต้องกู้มาพร้อมดอกเบี้ยย่อมต้องแน่ใจถึงผลลัพธ์ที่คุ้มค่า และที่สำคัญต้องสร้างความยั่งยืนให้ระบบเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย
หันกลับมามองปัจจัยเสี่ยงปี 67 ของเศรษฐกิจไทยยังคงวนเวียนต่อเนื่องจากปี 2566 เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงเน้นพึ่งพิงตลาดต่างประเทศทั้งการท่องเที่ยว และการส่งออก ซึ่งจะเห็นได้ว่าปี 2566 ภาคการท่องเที่ยวของไทยค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวแต่ยังคงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามากว่า 27 ล้านคน สร้างรายได้จากต่างประเทศราว 1.2 ล้านล้านบาทซึ่งก็ถือว่าต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 28 ล้านคนและรายได้ราว 1.6 ล้านล้านบาท
เหตุผลหลักมาจากรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปซึ่งพักค้างในไทยนานขึ้น ยังมีสัดส่วนน้อยกว่านักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีคนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก แต่พักค้างระยะสั้น เช่น นักท่องเที่ยวมาเลเซีย ขณะตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนก็ไม่เติบโตอย่างที่คาดไว้ ทำให้ปี 2567 รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องทบทวนกลยุทธ์เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวให้มากขึ้นอย่างน้อยต้องเพิ่มอีก 5 ล้านคนหากจะดัน ศก.ให้เติบโตต่อ
เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่ปี 2566 เจอมรสุมศก.โลกโดยเฉพาะคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น แม้แต่จีน ต่างชะลอตัวทำให้การส่งออกของไทยคาดว่าทั้งปีจะหดตัวราว 1-1.5% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 2.83-2.84 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2567 กูรูส่วนใหญ่ในแวดวงส่งออกต่างก็มองว่าจะฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ราว 1-2% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 2.85-2.89 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
ศก.โลกกับความเปราะบางด้านภูมิรัฐศาสตร์
ภาคการท่องเที่ยวและส่งออกของไทยหนีไม่พ้นการพึ่งพิงเศรษฐกิจโลก ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ทาง เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม เผยแพร่ผลสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2567 ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงอ่อนแอ ขณะที่ปัจจัยเรื่องการเมือง ภูมิรัฐศาสตร์ และเงินเฟ้อ จะยังเป็นความท้าทายหลักๆ ที่โลกต้องเผชิญ โดยเฉพาะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและเปราะบางสูง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างให้น้ำหนักเศรษฐกิจโลกยังจะไม่ถึงกับ "ถดถอย" แต่ประเด็นเศรษฐกิจถดถอยก็ยังเป็นความเสี่ยงของปี 2567 ที่ไม่อาจละเลยได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงโดยเฉพาะการสู้รบในสมรภูมิต่างๆ ที่ยังต้องติดตามว่าจะขยายวง หรือเพิ่มการสู้รบในจุดใหม่ๆ หรือไม่ …..เพราะสิ่งนี้จะพลิกให้เศรษฐกิจโลกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ในชั่วพริบตา
เปิดกับดักหนี้ครัวเรือนฉุด ศก.ไทย
สำหรับปัจจัยภายในประเทศหลุมดำใหญ่สุดของไทยยังคงหนีไม่พ้น “กับดักหนี้” ทั้งหนี้ประเทศและหนี้ครัวเรือนซึ่งในที่นี้คงต้องมองหนี้ภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ ที่ได้ส่งผลให้แรงซื้ออ่อนแอฉุดรั้งเศรษฐกิจของไทยปี 2566 อย่างชัดเจนโดยไทยมีหนี้ในระบบสูงถึง 16 ล้านล้านบาทหรือราว 90.7% รวมกับหนี้นอกระบบอีก 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากเพราะมูลค่าหนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าใน 10 ปีที่ผ่านมาและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP’ ของไทยยังสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก
แต่ที่น่ากังวลกว่าเพราะ 2 ใน 3 ของบัญชีหนี้ครัวเรือนไทยเป็นสินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้ เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 39% และบัตรเครดิต 29% หรือเรียกว่า หนี้เพื่อการอุปโภค ใช้แล้วหมดไป ไม่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มหรือมีชีวิตดีขึ้นในอนาคต ปัญหานี้ยังคงเป็นกับดัก ศก.ไทยต่อเนื่องในปี 2567 แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน (Directional Paper) และรวมถึงรัฐบาลจะเปิดลงทะเบียนเพื่อเร่งแก้หนี้นอกระบบก็ตาม
ทั้งนี้ เนื่องจากการแก้หนี้ต้องอาศัยเวลาและปัจจัยที่จะเอื้อโดยเฉพาะรายได้ของคนไทยภาพรวมยังไม่แน่นอนสูงจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนจากปัญหาโควิด-19 ต่อเนื่องเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้คนไทยขาดรายได้ที่เพียงพอทำให้หันไปพึ่งหนี้นอกระบบ แต่สำคัญสุดคือ การขาดวินัยของคนไทยที่น่าวิตกโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มีค่านิยมใช้จ่ายเกินตัวประเภท “ของมันต้องมี” ทำให้ขาดการออมเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน...
กับดักค่าพลังงานที่มีภาระรอจ่ายกว่าแสนล้าน
ปี 2566 รายได้ของคนไทยที่หากเทียบกับรายจ่ายแทบจะไม่พอเลี้ยงชีพด้วยเพราะต้องแบกรับราคาสินค้าที่ปรับขึ้น น้ำมัน ค่าไฟ สารพัด จากผลกระทบหลักของสงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้รัฐบาลล่าสุดจะปรับขึ้นค่าแรงเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ต้อนรับปี 67 ให้ก็ตามเพราะเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูงนั้นเรียกว่ารายได้ก็ยังโตไม่ทันรายจ่ายอยู่ดีและหากเจาะลึกรายจ่ายคนไทยที่สูงหนีไม่พ้น “ค่าพลังงาน” โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และน้ำมัน โดยรัฐบาลได้มีนโยบายในการดูแลค่าไฟฟ้าต่อเนื่องตั้งแต่ยุค "ลุงตู่" มาจนรัฐบาลเศรษฐา รวมแล้วเฉพาะหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็แบกภาระไปแล้วเกือบ 7.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ค่าไฟฟ้าที่ตรึงกันมาต่อเนื่องทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระไว้อีกราว 1 แสนล้านบาท
ภาระเหล่านี้ในที่สุดประชาชนต้องทยอยจ่ายคืนไม่ใช่ของฟรีที่ไหน ดังนั้นในปี 2567 หากพลังงานตลาดโลกลดลง ราคาพลังงานของไทยก็จะยังคงทรงตัวระดับสูงเพราะส่วนหนึ่งต้องใช้หนี้คืน แต่หากราคาพลังงานตลาดโลกขาขึ้นปัญหานี้จะยิ่งสะสมมากขึ้นและที่สุดจะแก้ไขโครงสร้างลำบากขึ้น ท่ามกลางที่ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้าที่มีค่าไฟในอัตราที่เปลี่ยนแปลงต่ำกว่าเช่นเวียดนาม อินโดนีเซีย ทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มาไทยต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การปรับโครงสร้างพลังงานจึงเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติไม่ใช่แค่แผนปฏิรูป
กับดักค่าแรงสูงเอกชนเร่งรับมือ
การขึ้นค่าแรง เป็นอีกปัจจัยที่เอกชนกำลังติดตามใกล้ชิดเมื่อกระทรวงแรงงานรับลูก "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังที่นำกลับไปทบทวนใหม่แม้คณะกรรมการกลาง (ไตรภาคี) จะได้พิจารณาปรับขึ้นแล้ว 2-16 บาทต่อวันหรือเฉลี่ยทั้งประเทศขึ้น 2.37% ซึ่งเอกชนถึงกับอึ้งตามๆ กันเพราะถือเป็นการแทรกแซงกลไกไตรภาคีที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่ที่กังวลหนักเห็นจะเป็นการทบทวนแล้วขึ้นไปสู่เป้าหมายที่พรรคเพื่อไทยวางไว้ 400 บาทต่อวัน เพราะนั่นจะยิ่งซ้ำเติมต้นทุนธุรกิจหนักขึ้นเพราะลำพังต้นทุนทางการเงินที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ในอัตราสูงก็มากพออยู่แล้ว
แน่นอนว่าผู้ลำบากสุดหนีไม่พ้นธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่ไม่อาจจะมีเงินทุนเพียงพอจะไปปรับนำเอาเทคโนโลยีทั้งหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติแทนคนได้เหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่และกลางที่กำลังปรับตัวไปสู่แนวทางดังกล่าวเพื่อหนีการปรับขึ้นค่าแรงที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้มีการหาเสียงและเริ่มบวกเพิ่มเข้าไปมากขึ้นทุกครั้งที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง รวมไปถึงการที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย เหล่านี้หากรัฐเร่งอัตราการปรับขึ้นค่าแรงที่มากเกินจะทำให้ยิ่งผลักดันให้แรงงานไทยอนาคตต้องตกงานเร็วมากขึ้นเช่นกัน
จับตา "ภัยแล้ง" ปี 67 อาจดันเงินเฟ้อพุ่ง
ปี 2567 คาดกันว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะก่อให้เกิด "ความแห้งแล้ง" ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคการเกษตรของไทยที่อาจมีปริมาณผลผลิตที่ลดต่ำลงย่อมส่งผลให้ราคาแพงขึ้นและสิ่งที่ตามมาคืออาหารที่จะมีราคาสูง ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงกระทบต่อการส่งออกด้วยเช่นกัน หากรัฐไม่สามารถดูแลรับมือได้ทันท่วงทีโดยขณะนี้ต้องยอมรับว่ารัฐบาลกำลังหมกมุ่นกับการแก้ไขปัญหาระยะสั้นโดยเฉพาการดูแลค่าครองชีพ แก้หนี้ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ความไม่นอนของภัยธรรมชาติกำลังทวีความรุนแรงขึ้นที่ไม่ได้มองแค่ภัยแล้ง แต่ปัญหาน้ำท่วมก็เช่นกัน การรับมือจึงต้องวางแผนทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยเฉพาะการวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ต้องอาศัยเวลา
สรุป ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังคงเปราะบางโดยมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่เป็นความเสี่ยงและท้าทาย ดังนั้นภาคเอกชนต่างมุ่งปรับองค์กรและโครงสร้างธุรกิจให้กระชับรับมือกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูง ลดรายจ่ายต่างๆ ให้มากสุด เรียกว่ารีดไขมันจนจะไม่เหลือแล้วแถมยังรัดเข็มขัดเพิ่มเข้าไปอีก
ส่วนรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถของประเทศให้เพิ่มขึ้นทั้งการปรับโครงสร้างการผลิตที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมใหม่ๆ ดึงการลงทุน การท่องเที่ยว และขยายตลาดการส่งออก และการปรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะค่าพลังงานให้นอกจากจะลดค่าครองชีพ ลดต้นทุนยังเป็นแต้มต่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ.... ปากท้องคนไทยในปี 67 ส่วนหนึ่งจึงยังคงต้องฝากไว้กับฝีมือรัฐบาล