xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจ้าท่าถกคำของบปี 68 พัฒนาขนส่งทางน้ำเปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว เชื่อมโยงทุกมิติอย่างปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจ้าท่าประชุมพิจารณาคำของบประมาณปี 68 วางแผนและยุทธศาสตร์ตามนโยบายรัฐบาลและคมนาคม รวม 9 ด้าน มุ่งเปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว และเชื่อมโยงทุกมิติที่ปลอดภัย เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงของประชาชนทุกประเภท และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นประธานในการประชุมฯ การพิจารณาคำของบประมาณ 2568 (รอบก่อน final) โดยมีนายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย นายวิเชียร เปมานุกรรักษ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ นายนรินทร์ศักย์ สัทธาประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนัก/กอง/ศูนย์ ส่วนกลางและภูมิภาค เข้าร่วมประชุม โดยการจัดทำคำของบประมาณปี 2568 ต้องสอดคล้องกับแผน/ยุทธศาสตร์ต่างๆ และสอดรับกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ในการเปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว พร้อมเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการเดินทางในทุกมิติ สร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และยกระดับสู่มาตรฐานสากล ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงของประชาชนทุกประเภท รวมทั้งให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transport) ลด PM 2.5 และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในระบบการเดินทางและขนส่งในทุกประเภท เป็นไปตามแนวนโยบาย "คมนาคม เพื่ออุดมสุขของประชาชน" และ "ราชรถยิ้ม"

การประชุมในครั้งนี้ได้ร่วมกันพิจารณาการดำเนินการจัดทำคำของบฯ ของกรมเจ้าท่า ตามภารกิจหลักและภารกิจสนับสนุนรวม 4 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ ด้านกำกับ ดูแลความปลอดภัยการคมนาคมทางน้ำ ด้านการผลิตบุคลากรและส่งเสริมพาณิชยนาวี และด้านอำนวยการ ภายใต้นโยบายรัฐบาลและคมนาคมที่เกี่ยวข้อง 9 ด้าน ได้แก่

1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ เช่น การพัฒนาท่าเรือต่างๆ เพื่อสนับสนุนในการท่องเที่ยวทางทะเล การพัฒนาการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำเศรษฐกิจให้เป็นไปตามมาตรฐานในแต่ละร่องน้ำ

2. ยกระดับความปลอดภัยการคมนาคมทางน้ำ นำเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยมาช่วยในการปฏิบัติงาน

3. ส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวี ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายส่งเสริมพาณิชยนาวี และจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมพาณิชยนาวีให้มีหน้าที่ดูแลกิจการส่งเสริมพาณิชยนาวีโดยเฉพาะ รวมไปถึงส่งเสริมกองเรือไทยและพัฒนามาตรฐานท่าเรือ อู่เรือ เป็นต้น

4. ส่งเสริมการคมนาคมทางน้ำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และ PM 2.5 และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกเรือไฟฟ้า (EV Boat)

5. ดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น IMO, IUU ตลอดจนพัฒนากรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ASEAN และ JCCCN เป็นต้น

6. สนับสนุนและส่งเสริมการขนส่งมวลชนสาธารณะทางน้ำในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ส่งเสริมการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ ล้อ-ราง-เรือ

7. พัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎและระเบียบให้ทันสมัยเป็นมาตรฐานสากล

8. ขับเคลื่อนสู่องค์กรที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยึดหลักธรรมาภิบาล รวมถึงพัฒนาองค์กรและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูง

9. ยกระดับการให้บริการ ให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว เข้าถึงได้และมุ่งแก้ไขปัญหา

รวมถึงประเด็นสำคัญด้านอื่นๆ เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศและกรอบความร่วมมือ FTA, แผนการดำเนินการที่เสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ, มติของ ครม. และสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง

โดยได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนคำของบประมาณปี 2568 ดังนี้ 1. ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ด้านแผนงานพื้นฐานผลิตบุคลากร แผนงานบูรณาการโลจิสติกส์ แผนงานบูรณาการส่งเสริมการท่องเที่ยว 2. สนับสนุนนโยบายลด Green House Gases 3. การท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ (ท่าเรือ) 4. สนับสนุนนโยบาย W - Map 5. เตรียมพร้อมการตรวจประเมิน IMO 6. การยกระดับคุณภาพการให้บริการประชาชน ด้าน IT และประเด็นสำคัญด้านอื่นที่อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจะต้องรวบรวมผลการประชุมเพื่อกำหนดกรอบงบประมาณอีกครั้ง ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีฯ ให้ความเห็นชอบ และจัดส่งสำนักงบประมาณภายในวันที่ 26 มกราคม 2567 เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น