รัฐบาลตั้งคณะกรรมการผลักดันการปรับปรุงกฎหมายสำคัญ 4 ด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
วันนี้ (29 พ.ย. 66) เวลา 09.35 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแถลงข่าว เรื่อง การปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องของการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่เป็นข้อจำกัดอุปสรรค จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าจะต้องพิจารณาประเด็นสำคัญที่จะนำมาปรับปรุงกฎหมายก่อน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และเกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นสำหรับการปรับปรุงกฎหมายจากภาคเอกชนและภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนี้ จากการประชุมที่ผ่านมา คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ได้กำหนดประเด็นสำคัญ 4 ด้านในการปรับปรุงกฎหมายระยะแรก ซึ่งเป็นประเด็นที่ตอบโจทย์ตามนโยบายรัฐบาล การสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะในการดูแลรับผิดชอบในแต่ละประเด็น ประกอบด้วย
1. ด้านการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตทำงาน การรายงานตัวรวมทั้งการยกเว้นใช้แบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ให้ครอบคลุมถึงพาหนะทางบกและทางเรือ การดำเนินการที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือการเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรและการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ เป็นประธานอนุกรรมการ
2. ด้านการพัฒนาระบบการอนุญาตหลัก (Super License) เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขอรับอนุญาตในประเภทธุรกิจที่มีความสนใจในการลงทุนประกอบธุรกิจแต่มีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ให้สามารถใช้ใบอนุญาตหลักเพียงใบเดียวประกอบธุรกิจได้ โดยจะเร่งดำเนินการใน 3 เรื่อง ได้แก่ (1) การประกอบกิจการร้านอาหาร (2) การประกอบธุรกิจที่พักขนาดเล็ก ที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วย และ (3) การขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยมีนางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ เป็นประธานอนุกรรมการ
3. ด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ (1) การนำเข้าส่งออกสินค้าเพื่อลดข้อจำกัดและระยะเวลาของผู้ประกอบการ เช่น การลดการเปิดตรวจสินค้าถ่ายลำ (Transhipment) ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงกฎหมายศุลกากรและกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามประเภทของสินค้านั้น และ (2) การขออนุญาตนำสินค้าเข้า-ออกเพื่อการแสดงสินค้าและนิทรรศการ (MICE) โดยจะช่วยดึงดูดให้มีการนำเข้าส่งออกสินค้าผ่านประเทศไทยจำนวนมากขึ้น โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ เป็นประธานอนุกรรมการ
4. ด้านการผลักดันพลังงานสะอาด (Clean Energy) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยจะพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนพลังงานชาติ และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยมีนายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา เป็นประธานอนุกรรมการ
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง กล่าวด้วยว่า การปรับปรุงกฎหมายแต่ละด้านนั้นจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความคุ้นชินกับกฎหมาย สำหรับการรับฟังความคิดเห็นนั้นก็เพื่อให้เกิดความรอบคอบและสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในการปรับปรุงกฎหมาย อีกทั้งยังมีกำหนดการที่จะหารือกับหอการค้าสหภาพยุโรปในประเทศไทย และหอการค้าอเมริกันในประเทศภายในเดือนธันวาคมนี้ คาดว่าจะรับได้ข้อมูลต่าง ๆ เมื่อได้รับข้อมูลแล้วก็จะนำมาใช้ประโยชน์ในการทำงานของคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ คาดว่าภายในปลายเดือนมกราคม 2567 จะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วน รอบด้าน และสามารถที่จะกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการเพื่อให้มีความชัดเจนต่อไปได้