xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.แตะเบรกทบทวนค่าแรง หากขยับขึ้นอีกยิ่งซ้ำเติมต้นทุน ย้ำยึดกลไกไตรภาคี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.ย้ำจุดยืนขึ้นค่าแรงต้องผ่านกลไก "ไตรภาคี" เหมาะสม หากทบทวนต้องหารือรายละเอียดหาก ขยับเป็น 400 บาท/วันยิ่งซ้ำเติมหนัก ฉุดขีดแข่งขันกดดันผู้ประกอบการใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ คนจะตกงานพุ่ง ที่สุดลงทุนย้ายฐานหนี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
กล่าวแสดงความเห็นถึงค่าแรงขั้นต่ำที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้นำกลับไปพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อความเหมาะสมแล้วนำเสนอ ครม.อีกครั้งก่อนสิ้นปี 2566 ว่า การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ ส.อ.ท. และเวทีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้คงนโยบายในการพิจารณาผ่านกลไกคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ที่สอดรับกับกฎหมาย มีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เมื่อรัฐกลับให้ทบทวนก็คงจะต้องมาดูรายละเอียดและคงจะต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

"บอร์ดไตรภาคีเห็นชอบปรับขึ้น 2-16 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.37% ภาพรวมก็ถือว่าต้นทุนก็สูงขึ้นอยู่แล้วโดยพบว่า 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของส.อ.ท.มีการจ้างแรงงานเข้มข้นถึง 50% หรือราว 23 กลุ่ม เช่นอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป สิ่งทอ ฯลฯ แต่หากการทบทวนจะมองไปที่ 400 บาทต่อวันนั้นจะยิ่งกดดันหนักขึ้นผู้ประกอบการจะอยู่ยาก ขีดความสามารถการแข่งขันไทยจะลดลง โดยเฉพาะสินค้าในประเทศเองก็โดนดัมป์ราคาจะยิ่งกดดันหนักขึ้นและที่สุดต้องปิดกิจการ" นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงจะยิ่งส่งผลให้การจ้างงานลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการจะลดต้นทุนเพื่อลดภาระและอีกส่วนจะทำให้เกิดการหันไปใช้ระบบหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติแทนคนเพิ่มขึ้นซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อแรงงานในระยะยาวเพราะจะตกงานเพิ่ม ขณะเดียวกัน การที่ไทยมีต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มทั้งค่าไฟที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน ค่าแรง และความเสียเปรียบที่มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่น้อยกว่าเพื่อนบ้านเช่นเวียดนาม ที่สุดเหล่านี้รวมกันก็จะทำให้การลงทุนหันไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านแทน ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะต้องติดตามใกล้ชิดแม้จะไม่ได้เกิดขึ้นทันทีแต่จะค่อยๆ เปลี่ยนไป
กำลังโหลดความคิดเห็น