xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.กมธ.อุตสาหกรรม ตั้งนายกสมาคมนักประดิษฐ์ฯ “ภณวัชร์นันท์” นั่งเลขาฯกมธ.เจ้าตัวเผย ถือเป็นเกียรติและเป็นโอกาสได้รับใช้ ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(2 พ.ย.)นายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ สมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึง คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติแต่งตั้งตนเองทำหน้าที่เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ เพื่อปฏิบัติงานทางวิชาการ ให้คำปรึกษาแนะนำในด้านอุตสาหกรรมนวัตกรรม และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งตนเองมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน เห็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น และต้องใช้นโยบายทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เล็งเห็นในสิ่งที่ตนทำมาตลอด คือการผลักดันให้นักประดิษฐ์ของไทย ได้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม จนสร้างชื่อในระดับโลก จึงได้มีการทาบทามพูดคุยกันกับตน เพื่อให้มาร่วมงานเป็นหนึ่งคณะทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งตนก็ตัดสินใจตอบรับทันที เพราะตนมองว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย จำเป็นจะต้องใช้นวัตกรรมหลายๆอย่าง ทั้งนวัตกรรมการเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรม นวัตกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมการบริหารงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ดังนั้น ตนจึงขอขอบคุณนายอัครเดช สำหรับโอกาสในการทำงานกับคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 นี้

"การที่ได้รับโอกาสจากคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้มาเป็นเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับตนในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่อยากจะมีโอกาสรับใช้ประชาชน โดยเฉพาะการนำความรู้ความเข้าใจที่ตนมีเกี่ยวกับเรื่องนวัตกรรม ที่ตนได้คลุกคลีและทำงานด้านนี้มียาวนาน มาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย รวมทั้งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนวัตกรรมในประเทศไทยในการสะท้อนปัญหา และความต้องการ เพื่อนำประเด็นปัญหาต่าง ๆ เข้าสู่การพิจารณาแก้ไขปัญหาของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป"
นายภณวัชร์นันท์ (พะ-นะ-วัด- นัน) กล่าว

นายภณวัชร์นันท์ (พะ-นะ-วัด- นัน) กล่าวด้วยว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ในวันนี้ (1 พฤศจิกายน) เนื่องจากประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้แทนไปร่วมประชุมรับทราบความคืบหน้าในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเห็นว่ายังอยู่ในระหว่างการเจรจา แต่มีข้อสังเกตว่าข้อมูลการเจรจาซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ไม่มีการเผยแพร่ให้ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องได้ทำการศึกษา และเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับแนวทางความตกลงในการเจรจาระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ค้ากลุ่มต่าง ๆ ซึ่งในโอกาสข้างหน้าหากคู่เจรจาไม่ว่าพหุภาคี หรือทวิภาคีทำความตกลงให้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบกลางที่เป็นสากล แล้วประเทศไทยต้องมีการจัดทำกฎหมาย หรือต้องแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทางการค้า เราต้องใช้เวลานาน ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องสูญเสียประโยชน์ในช่วงเวลาดังกล่าว

โดยในการประชุมครั้งนี้ ตนได้เสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฏรในประเด็นสำคัญหลายประเด็น เช่น

ประเด็นที่ 1 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา มาตรา 59 กำหนดว่า “รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก” ดังนั้น ในการเจรจา FTA กระทรวงพาณิชย์จะต้องเปิดเผยข้อมูลในการเจรจาให้เพียงพอต่อความเข้าใจของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในการติดตามผลกระทบ หรือส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากกระผมตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์พบว่าไม่มีการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอต่อความเข้าใจว่าเราจะได้อะไร หรือเสียอะไร ต้องไปค้นคว้าจากแหล่งข่าวสื่อมวลชน

ประเด็นที่ 2 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเป็นหนึ่งในคณะเจรจาในนามตัวแทนของประเทศไทย ควรจัดให้มีการจัดประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูล ระดมข้อคิดเห็น จากผู้มีส่วนได้เสียสำหรับเป็นข้อมูล เพื่อประกอบการเจรจาที่เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง และจะต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นที่มิได้กระทบหรือเป็นความลับทางการค้าระหว่างคู่เจรจา แต่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์หรือสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจต้องเตรียมความพร้อมในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลา และมีกระบวนการ ขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการ เพื่อเป็นการลดปัญหา และอุปสรรคทางเทคนิคอันเข้าเงื่อนไขที่ส่งงผลกระทบต่อการกีดกันทางการค้าผลิตภัณฑ์สินค้าของประเทศไทยจากประเทศคู่ค้า

ประเด็นที่ 3 หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม ควรบูรณาการความร่วมมือในการทำหน้าที่สนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน และสอดคล้องเทียบเคียงกับมาตรฐานของยุโรป

ประเด็นที่ 4 กระทรวงอุตสาหกรรมควรเพิ่มบทบาทของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการทำหน้าที่หน่วยงานตรวจสอบอิสระ (Notified Body) ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนของ EU ในการให้บริการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยควรมีการกำหนดเป้าหมายการทำงานของ สมอ. ในการตรวจสอบและรับรองให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในประเทศไทยเพื่อยกระดับศักยภาพ ลดข้อจำกัด หรืออุปสรรคในการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย รวมทั้งจะต้องส่งเสริมให้มีหน่วยงานตรวจสอบอิสระ (Notified Body) ซึ่งขึ้นทะเบียนและผ่านการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยตามแนวทางที่มีการปฏิบัติในสหภาพยุโรป และคู่ค้าอื่นๆ ที่รัฐบาลไทยทำ FTA เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพิจารณาถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า (EV) ซึ่งถือว่า เป็นอุตสาหกรรมที่มาแรงมากในยุคปัจจุบัน ซึ่งตนมองเห็นถึงช่องทางในการใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมดังกล่าว ให้เป็นที่นิยมของประชาชน รวมทั้ง ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในกรณีที่ราคาน้ำตาลทรายที่สูงขึ้นอีก 4 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนายอัครเดช ก็ได้มีแนวคิดที่จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง โดยเฉพาะคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งตนจะได้มีข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าว และจะได้แนะนำนวัตกรรมที่จะเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้อ้อยและน้ำตาลทราย โดยไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนสูงขึ้นตามไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น