xs
xsm
sm
md
lg

สนค.ประเมิน 1 เดือน สงครามอิสราเอล-ฮามาสกระทบเศรษฐกิจ-การค้าไทยจำกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนค.ประเมินผลกระทบสงครามอิสราเอล-ฮามาสในรอบ 1 เดือนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างจำกัด เหตุการค้าไทยกับอิสราเอลและปาเลสไตน์มีเพียง 0.2% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวม การขนส่งสินค้าก็ยังเป็นปกติ นักท่องเที่ยวก็มีมาไทยไม่มาก แค่ 1% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ผลกระทบด้านพลังงานก็ยังไม่ชัดเจน จับตาหากสงครามยืดเยื้อ ขยายวงกว้าง ทำการผลิต ขนส่งชะงัก อาจกระทบส่งออก-นำเข้าสินค้าบางรายการได้

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยกับอิสราเอลและระหว่างไทยกับปาเลสไตน์ รวมกันอยู่ในระดับต่ำ มีเพียงประมาณ 0.2% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของไทย และขณะนี้ด้านการขนส่งสินค้าเข้า-ออกจากอิสราเอลก็ยังไม่กระทบมาก เนื่องจากท่าเรือส่วนใหญ่ของอิสราเอลยังเปิดดำเนินการตามปกติ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนเพียงประมาณ 1% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด รวมทั้งด้านการลงทุน ก็ไม่มีการลงทุนโดยตรงจากทั้ง 2 ประเทศคู่ขัดแย้ง ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมต่อการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อเงินเฟ้อ ก็ยังไม่เห็นผลกระทบดังกล่าวชัดเจนเช่นกัน เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงแรกของสงครามยังต่ำกว่าระดับสูงสุดในเดือน ก.ย. 2566 รวมทั้งค่าเงินบาทก็ผันผวนและอ่อนค่าลงในช่วงแรกตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐและทองคำ เนื่องจากปัจจัยด้านจิตวิทยาที่กังวลผลกระทบของสงครามเท่านั้น

“จากการประเมินทิศทางสงครามและผลกระทบในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จึงน่าจะเชื่อได้ว่ากรณีที่การสู้รบยังดำเนินต่อไปแบบจำกัดวงอยู่ในฉนวนกาซาและบริเวณพรมแดนอิสราเอลกับซีเรียและเลบานอน ไม่น่าจะมีผลกระทบรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ หรือส่งผลกระทบสืบเนื่องจนสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวมมากนัก โดยการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ขึ้นอยู่กับว่าความขัดแย้งจะมีระยะเวลานานเพียงใด เหตุการณ์จะรุนแรงแค่ไหน จะขยายไปยังส่วนอื่นๆ ของภูมิภาคหรือไม่”

นายพูนพงษ์กล่าวว่า หากสงครามยกระดับรุนแรงในพื้นที่อิสราเอลหรือประเทศรอบๆ อิสราเอล จนทำให้ภาคการผลิต การขนส่ง เกิดการหยุดชะงัก และนำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อาจทำให้การส่งออกสินค้าบางรายการที่มีอิสราเอลเป็นตลาดส่งออกสำคัญส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบ เช่น เครื่องประดับ (เพชร) ไฟเบอร์บอร์ด ทูน่ากระป๋อง และรถยนต์นั่ง รวมทั้งสินค้านำเข้า เช่น เพชร ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ที่ไทยนำเข้าจำนวนมากจากอิสราเอล ซึ่งผู้ประกอบการต้องเริ่มมองหาตลาดส่งออกหรือแหล่งนำเข้าอื่นๆ ทดแทนให้มากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ หากสงครามขยายวงไปสู่ระดับภูมิภาค ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมน่าจะรุนแรงพอสมควร เพราะกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นทั้งตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ และเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญของไทยหลายรายการ จึงต้องติดตามพัฒนาการของสงครามอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมมาตรการรองรับได้อย่างทันท่วงที

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดความขัดแย้งของประเทศต่างๆ กลับเป็นโอกาสแสวงหาช่องทางการค้าและการลงทุนของไทย ในฐานะประเทศที่วางตัวเป็นกลางเหนือความขัดแย้ง เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ไทยได้รับผลประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากสหรัฐฯ จากจีนมาไทย และยังมีโอกาสส่งออกสินค้าทดแทนเข้าไปในตลาดคู่ขัดแย้ง เช่นเดียวกับกรณีเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่สร้างความไม่มั่นคงทางด้านอาหารทั่วโลก ก็ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์จากความต้องการซื้อสินค้าเกษตรและอาหาร

ส่วนเหตุความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในครั้งนี้ ที่แม้ไทยยังไม่ได้รับผลกระทบทางตรง แต่ภาพรวมของสงครามในภูมิภาคดังกล่าวก็มีส่วนบั่นทอนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกกลาง จึงถือเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือทางการค้าและการลงุทน รวมทั้งผลักดันสินค้าไทย เช่น อาหารฮาลาล กับกลุ่มประเทศมุสลิมอื่นๆ ทดแทนได้

สำหรับประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ แรงงาน เนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากไต้หวัน โดยแรงงานจำนวนกว่า 26,000 คนที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลอาจได้รับผลกระทบจากสงครามและว่างงานลงอย่างฉับพลัน ซึ่งประเด็นนี้ภาครัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือรองรับที่เหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น