ปตท.สผ.จ่อประกาศแผนการลงทุน 5 ปีใหม่ (ปี 2567-71) ภายในเดือนธันวาคมนี้ วางเป้าปริมาณการขยายปิโตรเลียมแตะ 510,000 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาก๊าซฯ อ่อนตัวลงจากปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 5.6-5.9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
นายสัมฤทธิ์ สำเนียง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างทบทวนแผนการลงทุน 5 ปี (2567-71) คาดว่าจะประกาศได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ จากเดิมแผนการลงทุน 5 ปีนี้ (2566-70) จะใช้เงินลงทุนรวม 29,100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งปริมาณการขายปิโตรเลียมในปีหน้าอยู่ที่ 510,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เติบโตขึ้นจากปี 2566 ที่เฉลี่ย 463,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และในปี 2570 จะมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มเป็น 550,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
ปีหน้าบริษัทคาดมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่ง G1/61(เอราวัณ) จากปัจจุบันอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในวันที่ 1 เม.ย. 2567 ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และการเร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งอื่นๆ มาทดแทน เช่น แหล่งบงกช (G2/61) ที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 860 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สูงกว่าเงื่อนไขสัญญา PSC กำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำอยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยบริษัทจะรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯ ทั้ง 2 แหล่งนี้ตามเงื่อนไข PSC ต่อเนื่องไป 10 ปี การเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งอาทิตย์ ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
นายสัมฤทธิ์กล่าวว่า แนวโน้มราคาก๊าซฯ ในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 5.6-5.9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ลดลงจากปี 2566 ที่ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปี 2567 ที่ยังมีความผันผวนอยู่คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 70-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากปี 2566 ที่เฉลี่ย 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยบริษัทยังต้องติดตามสถานการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในประเทศต่างๆ, สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำมันดิบในระยะถัดไป
“บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนลงทุน 5 ปี (ปี 67-71) ฉบับใหม่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.นี้ และจะทำให้เห็นความชัดเจนของกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 2570-2571 ที่จะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขายปิโตรเลียมของบริษัทด้วย อีกทั้งบริษัทยังคงมองเรื่องของการเข้าซื้อกิจการ M&A ในโครงการก๊าซต้นทุนต่ำเพื่อรักษาการทำกำไรในอนาคต”
ส่วนกรณีที่ภาครัฐมีนโยบายดูแลอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศนั้น บริษัทคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อบริษัท ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องจัดเตรียมสำรองค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน เข้าใจว่าภาครัฐนอกจากจะให้ความสำคัญด้านการดูแลเรื่องต้นทุนพลังงานให้ประชาชนแล้ว ก็ยังมองเรื่องของการดูแลความมั่นคงทางพลังงานของประเทศด้วย โดยเฉพาะการรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทย และการเพิ่มซัปพลายก๊าซใหม่ อย่างการผลักดันการหาข้อยุติปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา หรือ Overlapping Claims Area - OCA ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาแหล่งก๊าซฯ ใหม่ในอนาคต และ ปตท.สผ.ก็จะมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
นายสัมฤทธิ์กล่าวต่อไปว่า โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก ปัจจุบัน สถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดยขยับเป้าหมายจะส่งมอบ LNG ลำแรกเป็นช่วงครึ่งปีแรกของปี 2571 จากเดิมภายในปี 2570
โครงการเจาะหลุม ลัง เลอบาห์-2 ในโครงการซาราวักเอสเค 410 บี คาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ได้ช่วงต้นปีหน้า และเริ่มการผลิตครั้งแรกในช่วงครึ่งแรกปี 2571 ขณะที่โครงการแคช-เมเปิลที่ออสเตรเลีย อยู่ระหว่างดำเนินการขาย ซึ่งได้ตกลงราคาเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้รัฐบาลออสเตรเลียพิจารณา คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ในช่วงสิ้นปีนี้
สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4 ปี 2566 คาดว่าจะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 3 อยู่ที่ 87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากประเทศตะวันตกเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้ลดการเดินทางลง ประกอบกับนโยบายการเงินในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันลดลง
ขณะที่ทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) คาดว่าจะสวนทางกับราคาน้ำมันดิบ โดยเฉลี่ยทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 13-14 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากราคาเฉลี่ยไตรมาส 3 อยู่ที่ 12.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาวจึงมีการนำเข้า LNG เพื่อเก็บสำรองมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่คาดว่าจะต้องมีการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินธุรกิจใหม่ เช่นธุรกิจ Carbon Solutions บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าลงทุนธุรกิจใช้บริการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ในนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่รอบๆ อ่าวไทย ที่จะเป็นลักษณะการเข้าไปให้บริการนำคาร์บอนไดออกไซด์ของนิคมฯ ต่างๆ ขนย้ายไปกักเก็บในหลุมปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งลูกค้ากลุ่มแรกจะเป็นในเครือ ปตท.
รวมทั้งธุรกิจ Low-carbon Energy จะมีทั้งพลังงานหมุนเวียน และ Power-to-X เช่น โครงการ Hydrogen ที่ ปตท.สผ.ได้ร่วมลงทุนไปก่อนหน้านี้
ธุรกิจ Advanced Technology หรือ AI and Robotics โดยบริษัทฯ ได้มีการตั้งบริษัทย่อยมาประมาณ 4 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการ Scale Up การหาฐานลูกค้าเพิ่มเติม โดย ปตท.สผ.คาดว่าในธุรกิจใหม่ดังกล่าวนี้จะสร้างกำไรให้บริษัทอย่างน้อย 20% ภายในปี 2573