ปตท.สผ.เผยผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือน ปี 2566 มีกำไรสุทธิโตขึ้น7%จากช่วงเดียวกันปีก่อนแตะ 58,422 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายลดลงจากราคาขายปิโตรเลียมที่ลดลง ราว10% ส่วนติดตั้งแท่นผลิตเพิ่มเติมในโครงการจี 1/61 ยังเป็นไปตามแผนงาน พร้อมแสวงหาโอกาสลงทุนในพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งบลูไฮโดรเจนและกรีนไฮโดรเจน รวมถึงการพัฒนาโครงการ CCS
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP)หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่าผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ ปตท.สผ. มีรายได้รวม 6,646 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 229,345 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม7,008ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง และมีกำไรสุทธิ 1,694 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 58,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,581 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 55,291ล้านบาท
โดยบริษัทมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 457,737 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ย ลดลงประมาณร้อยละ 10 มาอยู่ที่ 48.14 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยยังคงรักษาต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ไว้ที่ 27.23 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ร้อยละ 74
ทั้งนี้ บริษัทนำส่งรายได้ 47,600 ล้านบาท จากการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาประเทศ
จากผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนของปี 2566
นายมนตรี กล่าวต่อไปว่า ในรอบ 9 เดือนของปี 2566 ปตท.สผ. มีความคืบหน้าการดำเนินงานทั้งธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและธุรกิจใหม่ โดยได้ดำเนินการเจาะหลุมผลิตและติดตั้งแท่นผลิตใหม่เพิ่มเติมในโครงการจี 1/61 ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567 รวมทั้ง เพิ่มการผลิตก๊าซฯ ในโครงการอาทิตย์ที่อัตราประมาณ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณขายก๊าซฯ ตามสัญญา เพื่อสนองตอบต่อแนวทางของภาครัฐในการลดผลกระทบด้านต้นทุนพลังงานให้กับประชาชน
ด้านความคืบหน้าการลงทุนในธุรกิจใหม่ ปตท.สผ. ได้ขยายความร่วมมือกับโพสโค โฮลดิ้งส์ (POSCO Holdings) บริษัทผู้ผลิตเหล็กชั้นนำในเกาหลีใต้ ในการหาโอกาสการลงทุนโครงการผลิตบลูไฮโดรเจนและกรีนไฮโดรเจนแบบครบวงจร รวมถึง โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) จากก่อนหน้านี้ที่ได้ร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในประเทศโอมาน ขณะที่บริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FTEV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาด ได้เริ่มผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “ลานแสงอรุณ” เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมที่โครงการเอส 1 ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ปตท.สผ. ยังได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมประมง เพื่อศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหินแร่ และนำไปใช้เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปะการังเทียม ที่ใช้ในการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ และช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ บริษัทได้ดำเนินโครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ ศึกษา พัฒนางานวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาธรณีศาสตร์ และวิศวกรรมปิโตรเลียม ให้กับอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งเป็นการสนับสนุนประเทศไทยทั้งการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) เพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปพร้อมกันอีกด้วย