“สุรพงษ์” มอบนโยบาย รฟฟท.สั่งบูรณาการเพิ่มฟีดเดอร์เชื่อมสถานีสีแดง ค่าโดยสาร 20 บาท ดันผู้โดยสารเพิ่มต่อเนื่อง เตรียมผุดฟีดเดอร์อีก 5 เส้นทาง เชื่อมสถานีกลางกรุงเทพฯ, หลักสี่, รังสิต
วันที่ 25 ต.ค. 2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการดำเนินงานของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ซึ่งถือเป็นโครงการ Quick Win ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีการนำร่องด้วยรถไฟฟ้า 2 สาย คือ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงทั้ง 2 เส้นทาง ได้แก่ สายธานีรัถยา ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีรังสิต และสายนครวิถี ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีตลิ่งชัน รวมระยะทาง 41 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 13 สถานี กับ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) รวมระยะทาง 23 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 16 สถานี ซึ่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในเดือน พ.ย.นี้ผู้โดยสารจะสามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสายสีแดง กับ MRT สายสีม่วงของ รฟม.ได้ที่สถานีบางซ่อน โดยใช้บัตร EMV Contactless ชำระค่าโดยสาร ราคาสูงสุดเพียง 20 บาท
โดยรายงานผลประกอบการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงภายหลัง ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2566 เวลา 11.00 น. เป็นต้นมา พบว่าปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.01 ในช่วงระหว่างวันที่ 16 - 20 ตุลาคม 2566 (วันทำการปกติ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.52ระหว่างวันที่ 21 - 23 ตุลาคม 2566 (วันหยุดราชการต่อเนื่อง) โดยการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้มอบหมายให้
กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ปรับบทบาทองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อพัฒนาระบบ Feeder รับ - ส่งผู้โดยสารจากชุมชนและสถาบันการศึกษา เข้า - ออกระบบราง
ในส่วนการเพิ่มรายได้จากการโฆษณาในขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีที่ยังไม่มีการดำเนินการนั้น ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจจึงมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ ขร. บูรณาการร่วมกันกับ Marketing มืออาชีพเพื่อหารายได้เข้าองค์กร
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ได้มอบนโยบายให้พัฒนาระบบฟีดเดอร์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่บริการรถไฟฟ้า ได้อย่างครอบคลุม เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ซึ่ง รฟฟท.มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษา และออกแบบจัดทำโครงการเชื่อมต่อการเดินทางเพื่อเพิ่มการเข้าถึง (Feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้อย่างสะดวก
ปัจจุบันมีฟีดเดอร์เป็นระบบรถไฟทางไกลจากนครปฐม-ธนบุรี ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ณ สถานีชุมทางตลิ่งชัน มายังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้สะดวก และรวดเร็ว
ฟีดเดอร์เส้นทางสถานีหลักหก (สายสีแดง)-ม.รังสิต ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตได้จัดรถสองแถวให้บริการฟรีรับ-ส่งนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป
@เตรียมเพิ่มฟีดเดอร์อีก 5 เส้นทาง
และยังมีแผนการดำเนินงานระบบฟีดเดอร์ สนับสนุนการเดินทางด้วยระบบการขนส่งรอง เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเพิ่มอีก 5 เส้นทาง ดังนี้
1. สถานีตลิ่งชัน-ถนนบรมราชชนนี
2. สถานีตลิ่งชัน-บางหว้า
3. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ตลาดนัดจตุจักร
4. สถานีหลักสี่-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
5. สถานีรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
ทั้งนี้ รฟฟท.จะเดินหน้าพัฒนาการเดินทางระบบการขนส่งรองด้วยระบบ Feeder อย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ทั้ง 13 สถานี ได้อย่างสะดวก และปลอดภัย
สำหรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ รฟฟท. ภายใต้สัญญารับจ้างเดินรถสายสีแดงกับ รฟท. เป็นสัญญารายปี ทำให้พนักงาน รฟฟท. ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสิทธิภาพในการเดินรถและซ่อมบำรุง ไม่มีความมั่นคง ไม่จูงใจต่อการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่สำคัญไว้ได้นั้น มอบหมายให้ ขร. และ รฟท. ศึกษารูปแบบการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ พิจารณาข้อดีข้อเสีย รวมทั้งจุดอ่อนจุดแข็งโอกาสทางธุรกิจ เพื่อนำเสนอรัฐบาลในการพัฒนาและขับเคลื่อนองค์กรต่อไป
นอกจากนี้ รมช.คมนาคมได้เน้นย้ำหลักการ “Smile Service and Safety for Railway” คือ การให้บริการด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยรอยยิ้ม สร้างความสุขให้แก่ผู้ใช้บริการ เอาใจใส่ผู้ใช้บริการทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รวมถึงมีการพัฒนามาตรฐานงานบริการ ควบคู่กับความปลอดภัยตามมาตรฐานระดับสากล
ทั้งนี้ รฟฟท.มีแผนการติดตั้งระบบตรวจวัดอัจฉริยะแบบฝังตัวในขบวนรถไฟฟ้าเพื่อการบำรุงรักษาแบบแม่นยำสำหรับทางวิ่งและระบบไฟฟ้า (Embedded Smart Monitoring and Diagnostic System in On-Service Train for Predictive Maintenance of Redline Track and OCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีความทันสมัย ซึ่งร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยมีการฝังอุปกรณ์ตรวจวัดไว้ภายในขบวนรถไฟฟ้าที่ให้บริการ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลด้านการสั่นสะเทือนของตัวรถ และนำมาเป็นข้อมูลสำหรับวางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมั่นได้ว่ารถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงมีระบบการควบคุมการเดินรถที่มีความปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมขององค์กร ที่มุ่งเน้นเรื่องการเดินรถไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยในระดับสูงสุด
อีกทั้ง รฟฟท.ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาโครงการ “Station Accessibility Development” เป็นการวางแนวทางการรองรับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และการรองรับสังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้น ตลอดจนกลุ่มผู้พิการที่ควรให้การดูแลเป็นพิเศษ และมุ่งแก้ไขในการรับมือกับปัญหาที่ส่งผลเสียต่อผู้โดยสารจากการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบโครงสร้างของสถานี และจำนวนผู้โดยสาร ที่เข้าใช้บริการจากภาพเคลื่อนไหวของกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การดูแลผู้พิการตลอดการเดินทาง เพื่อสร้างประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเดินทาง พร้อมเสนอข้อแนะนำในการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถานีสายสีแดง สำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นให้มีศักยภาพดียิ่งขึ้นอีกด้วย
@พัฒนานวัตกรรมยางพารา ช่วยลดเสียงและแรงสั่นสะเทือนช่วงผ่านชุมชน
นอกจากนี้ รฟฟท.ยังมีแผนดำเนินโครงการลดผลกระทบในด้านเสียง และการสั่นสะเทือนที่แหล่งกำเนิดที่มีต่อประชาชน ด้วยนวัตกรรม Green Damper จากยางพารา เนื่องจากเส้นทางการให้บริการรถไฟฟ้าถูกออกแบบให้วิ่งผ่านเขตเมือง หรือชุมชน ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางเสียงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า
ในปัจจุบัน รฟฟท.ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการพัฒนา Green Damper ที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบร่วมกับวัตถุดิบในประเทศ 100% ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองติดตั้งจริง โดยคาดการณ์ว่านวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยลดความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนได้ทันที อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าการเกษตรในประเทศอีกด้วย