กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ PTTGC จัดกิจกรรมส่งมอบอุปกรณ์เครื่องเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ม้านั่ง และพื้นทางเดินอัปไซเคิล สำหรับพื้นที่โซนสัตว์เลี้ยง (Pet Zone) ในพื้นที่สวนวชิรเบญจทัศภายใต้โครงการ “Circular Pet Zone by GC YOUเทิร์น เทิร์นสุขให้เพื่อนสัตว์เลี้ยง” เปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเทิร์นกลับมาสร้างประโยชน์ ช่วยลดปริมาณพลาสติกใช้แล้วไปสู่หลุมฝังกลบกว่า 1,478 กิโลกรัม ลดก๊าซเรือนกระจกกว่า 1,523 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า กรุงเทพมหานครมีวิสัยทัศน์ในการมุ่งเน้นจัดการขยะที่แหล่งกำเนิด โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตามแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste Management) สร้างความตระหนักรู้ในการลดปริมาณขยะตามหลัก 3R คือ Reduce, Reuse and Recycle และทำให้มูลฝอยเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือ (Residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะสำเร็จได้ต้องมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน โดย PTTGC เป็นหนึ่งในพันธมิตรเข้ามาสนับสนุนในส่วนของการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และยังได้ส่งมอบเครื่องเล่นและอุปกรณ์อัปไซเคิลสำหรับสัตว์เลี้ยง สร้างประโยชน์จากพลาสติกใช้แล้วที่ยากต่อการนำไปรีไซเคิล นับเป็นการส่งต่อแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Closed loop อย่างเป็นรูปธรรม
นายชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวว่า บริษัทนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงได้พัฒนา GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง สนับสนุนการนำพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนส่งกลับมาเป็นวัตถุดิบและกลับเข้าสู่วงจรการผลิตอีกครั้ง
ในปี 2566 บริษัทและกรุงเทพมหานครได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่สวนรถไฟให้กลายเป็น Circular Park เริ่มต้นจากการสนับสนุนการเปลี่ยนถังขยะเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีให้แก่ภาคประชาชน รวมถึงได้บูรณาการความเชี่ยวชาญของ PTTGC และพันธมิตรในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาผลิตอุปกรณ์และเครื่องเล่นอัปไซเคิลจากพลาสติกใช้แล้ว ประกอบด้วย เครื่องเล่นสนามแบบวิ่งข้าม เครื่องเล่นสนามแบบรั้วรอดรู เครื่องเล่นสนามแบบอุโมงค์ลอด ม้านั่ง อิฐบล็อกปูพื้นทางเดินรูปเท้าสุนัข และอิฐบล็อกรูปแบบ ซึ่งทั้งหมดนี้ผลิตจากพลาสติกใช้แล้วประเภทพลาสติกยืด และถุงบรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้น (Multi-layer) ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิลช่วยลดปริมาณพลาสติกใช้แล้วไปสู่หลุมฝังกลบกว่า 1,478 กิโลกรัม ลดก๊าซเรือนกระจกกว่า 1,523 กิโลกรัม คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 169 ต้น