ชาวสวนปาล์มน้ำมันและผู้ผลิตเอทานอลหวังรัฐเดินหน้าหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพต่อเนื่อง ลุ้นหนักปี 2567 เคาะชี้ชะตาลดชนิดน้ำมันซึ่งจะทำให้ปั๊มลดหัวจ่ายลงมาจากปัจจุบันที่มีมากเกินจำเป็นตามแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับใหม่ ปาล์มชี้ผสม 5-10% รับได้ ขณะที่เอทานอลหวัง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน
นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้กำหนดให้คงสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วให้เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 ต่อไปอีก 3 เดือน เริ่ม 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จากนั้นคงจะต้องติดตามนโยบายดังกล่าวจากภาครัฐเนื่องจากภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan 2023) จะกำหนดชนิดน้ำมันพื้นฐานเพื่อลดหัวจ่ายลงในปี 2567 โดยเห็นด้วยหากรัฐจะกำหนดการผสมไบโอดีเซล (B100) ในดีเซลสัดส่วน 5-10%
“หากกระทรวงพลังงานวางเป้าหมายปี 2567 จะให้เหลือเพียงชื่อ “น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว” เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ สัดส่วน B100 อยู่ที่ 5-10% เพื่อสถานีบริการน้ำมันจะได้มีเพียงหัวจ่ายเดียวในส่วนของดีเซลเราเองก็คงไม่มีปัญหาขอเพียงอย่าต่ำกว่า 5% เหมือนอดีตที่เคยลดต่ำไปถึง 3% เพราะเกษตรกรจะเดือดร้อนจากราคาปาล์มจะตกต่ำ” นายมนัสกล่าว
ปัจจุบันราคาปาล์มทะลายราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ส่วนน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) อยู่ที่ประมาณ 28-29 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคา B100 อยู่ที่ 32.55 บาทต่อลิตร ซึ่งถือว่าเป็นระดับราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ หากคงรักษาระดับนี้ต่อไปก็จะส่งผลดี โดยปัจจัยสำคัญมาจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์มที่เข้ามาบริหารจัดการสต๊อก CPO แย่างใกล้ชิดทำให้รักษาสมดุลราคาทั้งระบบได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการผลักดันการส่งออกเพื่อลดปริมาณน้ำมันปาล์มฯ ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามกฎหมายพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพภายใน 3 ปี ซึ่งครบกำหนดวันที่ 24 ก.ย. 2565 และได้มีการยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปีและกฎหมายเปิดช่องให้ขอขยายเวลาดำเนินการได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี โดยมีการขยายไปแล้ว 2 ปีสิ้นสุด ก.ย. 67 ซึ่งท้ายที่สุดมาตรการนี้จะต้องใช้จริงไม่เกินปี 2569 ขณะนี้ทางเกษตรกรและทุกส่วนได้พยายามปรับตัวในการรับมือโดยมุ่งเน้นการหาตลาดส่งออก ลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น
แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ค้าเอทานอลกล่าวว่า ขณะนี้ราคาเอทานอลอยู่ประมาณ 29.88 บาทต่อลิตร ซึ่งมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีค่อนข้างมากสาเหตุมาจากวัตถุดิบทั้งโมลาส (กากน้ำตาล) และมันสำปะหลังราคาค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม การลดชนิดน้ำมันลงตามแผนน้ำมันฯ คงจะต้องรอความชัดเจนจากนโยบายกระทรวงพลังงานเนื่องจากรัฐเองมีความกังวลในเรื่องรถยนต์เก่าและราคาเอทานอลที่ไม่เสถียร ซึ่งสมาคมฯเห็นว่าควรจะลดหัวจ่ายกลุ่มเบนซินลงจาก 5-6 หัวจ่ายขณะนี้เหลือเพียงน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน และ E85 เป็นน้ำมันทางเลือก
"ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ เก็บเงินแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ลิตรละ 2.80 บาท E20 E85 ลิตรละ 0.81 บาท ทำให้อี 85 มีราคาไม่จูงใจให้ประชาชนเติมน้ำมันดังกล่าว ส่งผลให้ที่สุดผู้ค้าต้องทยอยยกเลิกจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ที่สุดท้ายจะเลิกการสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทางกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลมีการเตรียมตัวรองรับแล้ว ทั้งการส่งออก การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการผลิตพลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงการผลิตกระแสไฟฟ้ารองรับทิศทางการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเข้ามาแทนที่รถที่ใช้น้ำมันมากขึ้น เป็นต้น" แหล่งข่าวกล่าว