รอลุ้น "กบ." เตรียมเคาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 66/67 เร็วๆ นี้ จ่อทะลุ 1,400 บาท/ตันทำสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกพุ่งสูง จับตาการสู้รบในอิสราเอลอาจดันราคาไปต่อได้หากราคาน้ำมันขยับแรง ส่วนเงินตัดอ้อยสด 120 บาท/ตันที่ยังคงคั่งค้างยังคาดหวังหลัง รมว.อุตฯ รับปากจะเร่งดำเนินการ
นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการทำตัวเลขประมาณการราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/67 พบว่าราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ยรวมทั่วประเทศที่ค่าความหวาน 10 ซีซีเอสจะอยู่ในระดับ 1,484 บาท/ตัน ซึ่งนับเป็นราคาที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกปรับตัวขึ้นสูงจากผลผลิตน้ำตาลทรายภาพรวมที่ลดต่ำ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวจะมีการสรุปอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (กบ.) เร็วๆ นี้ก่อนที่จะนำเสน กอน.เห็นชอบเพื่อประกาศต่อไป
“ตามระเบียบแล้วการประกาศราคาอ้อยขั้นต้นจะคิดที่ 95% ของราคาที่กำหนดซึ่งก็จะเฉลี่ยที่ 1,409.79 บาท/ตัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากฤดูหีบปี 65/66 ทำไว้ที่ 1,080 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซีซีเอส อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวสุดท้ายจะออกมาอย่างไรก็คงต้องรอ กบ.เห็นชอบก่อน” นายวีระศักดิ์กล่าว
สำหรับการคำนวณราคาดังกล่าวมาจากการประมาณราคาน้ำตาลทรายส่งออก รวมพรีเมียม 26.274 เซ็นต์/ปอนด์ อัตราแลกเปลี่ยน 34.50 บาท/เหรียญสหรัฐ ผลผลิตกากน้ำตาล 3.0780 ล้านตัน ราคากากน้ำตาลเฉลี่ยภายในและส่งออก 5,182 บาท/ตัน เป็นต้น โดยยอมรับว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาอ้อยในฤดูหีบนี้เพิ่มสูงมาจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากกรณีที่อินเดียงดส่งออกน้ำตาลทรายตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 เพื่อสงวนไว้ใช้ในประเทศ หลังจากประสบปัญหาภัยแล้ง ขณะเดียวกันผลผลิตอ้อยของไทยปี 2566/67 ที่จะเปิดหีบในช่วงปลายปีนี้ก็มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนโดยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 75 ล้านตันบวกลบซึ่งดีขึ้นจากการประเมินก่อนหน้าเพราะบางพื้นที่ได้รับปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นจาก เดิมที่ประสบภาวะภัยแล้ง
“ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกส่งมอบเดือน มี.ค. 2567 อยู่ที่ 26.74 เซ็นต์/ปอนด์ ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงและยังมีแนวโน้มที่อาจไปต่ออีกหลังจากเกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่จะหนุนให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นที่จะทำให้บราซิลผู้ผลิตน้ำตาลใหญ่สุดของโลกจะหันนำอ้อยไปผลิตเอทานอลก็จะส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลลดต่ำลง จึงต้องติดตามใกล้ชิด” นายวีระศักดิ์กล่าว
สำหรับประเด็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูกาลผลิตปี 2565/66 ที่รัฐจะสนับสนุนการตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานในอัตรา 120 บาทต่อตันชาวไร่อ้อยทั่วประเทศยังคงคาดหวังว่าจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบหลังจากที่ได้มีการหารือกับนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และทาง รมว.ได้รับปากที่จะดำเนินการช่วยเหลือแล้ว
“เงินส่วนนี้มีความสำคัญต่อการตัดอ้อยสดเพราะแม้ว่าราคาอ้อยจะสูงแต่ต้นทุนการผลิตต่างๆ ที่ผ่านมาก็ปรับตัวสูงขึ้นมาต่อเนื่องทั้งปุ๋ย น้ำมัน ค่าแรง และที่สำคัญ การตัดอ้อยสดต้องใช้รถตัดที่ยังคงมีต้นทุนที่แพง เมื่อการจ่ายเงินที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนก็จะยิ่งกดดันชาวไร่ในการรับมือกับการตัดอ้อยสดมากขึ้น” นายวีระศักดิ์กล่าว