“รสนา” แนะรัฐควรลดราคาแก๊สโซฮอล์ 95 มากกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 เพราะจะเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริงเหตุปัจจุบันปั๊มที่จำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 กระจุกตัวอยู่ในเขต กทม.และปริมณฑลมากกว่า ต่างจังหวัดมีน้อยจากรัฐส่งเสริมการยกเลิกจำหน่าย
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยถึงกรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาท/ลิตรว่า การลดราคาให้ประชาชนเป็นเรื่องที่ดีแต่ควรจะลดราคาในส่วนของแก๊สโซฮอล์ 95 แทนจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐมีนโยบายในการลดหัวจ่ายน้ำมันลงโดยค่อยๆ ทยอยยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ทำให้ปัจจุบันสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) ในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ไม่ได้จำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 แล้ว จะเหลือเฉพาะในส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก
“ขณะนี้ปั๊มน้ำมันที่จำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน กทม. ต่างจังหวัดมีน้อยมาก และที่สำคัญการจำหน่ายส่วนใหญ่อยู่ในปั๊มน้ำมันค่ายปตท.และบางจากเท่านั้น จึงเห็นว่าการลดราคาควรจะให้เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง จึงควรมองไปที่แก๊สโซฮอล์ 95 แทนจะดีกว่า” น.ส.รสนากล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาต้องการสนับสนุนภาคการเกษตร จึงกำหนดมาตรการส่งเสริมการนำน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพโดยนำเอทานอลที่ผลิตจากกากน้ำตาล (โมลาส) และมันสำปะหลังมาผสมในกลุ่มเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ และปาล์มบริสุทธิ์ 100% หรือ B100 มาผสมดีเซลเป็นไบโอดีเซลจำหน่าย แต่ต้องยอมรับว่าการดำเนินงานดังกล่าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพกลับสูงกว่าน้ำมันพื้นฐาน เช่น ขณะนี้ราคาเอทานอลอยู่ที่ 29.88 บาท/ลิตร B100 อยู่ที่ 32.55 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าเนื้อน้ำมันประมาณ 6-8 บาท/ลิตร เมื่อนำเอาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพมาเติมแม้จะมีสัดส่วน 10-20% ก็ทำให้ราคาสูงขึ้น ดังนั้นภาครัฐจำเป็นจะต้องมาดูโครงสร้างต้นทุนของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่จะทำอย่างไรไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้บริโภค
น.ส.รสนาระบุว่า หากเป็นไปได้รัฐบาลควรจะกำหนดราคาของผู้ผลิตเอทานอลและ B100 ว่าหากเกินกว่าน้ำมันพื้นฐาน 10% ก็ไม่ควรจะนำมาผสมเพื่อไม่ให้ภาระต้นทุนเหล่านี้ตกมาอยู่กับผู้บริโภคทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ใช้กลุ่มเบนซินที่ปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มที่ต้องแบกภาระมากสุดเพราะถูกจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ มาเป็นรายได้และนำไปชดเชยให้กับผู้ใช้ดีเซลที่รัฐตรึงราคาไว้ไม่เกิน 29.94 บาท/ลิตรจนถึงสิ้นปี และเป็นเช่นนี้มาตลอด ดังนั้นภาครัฐควรจะกำหนดแนวทางให้กองทุนน้ำมันฯ มีการแยกบัญชีน้ำมันระหว่างเบนซินกับดีเซล และห้ามมีการอุดหนุนข้ามประเภทเพื่อความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค