"สุรพงษ์" ดันรถไฟสีแดงต่อขยาย 3 สาย เสนอช่วง มธ.รังสิต 6.4 พันล้าน ลุ้น ครม.เคาะสัปดาห์หน้า สั่งกรมรางหารือ ขบ.วางโครงข่ายฟีดเดอร์เชื่อมสถานีรถไฟฟ้า พร้อมรับปากช่วยแก้ปมสถานีอยุธยา ไฮสปีด "ไทย-จีน" เร่งเสร็จปี 69
วันที่ 19 ต.ค. 2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ว่า การพัฒนาระบบรางเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล จึงต้องมีการกำหนดกรอบนโยบายการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อให้การดำเนินงานและการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยมีนโยบายเร่งรัดการพัฒนาโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยายจำนวน 3 เส้นทาง เพื่อให้เปิดให้บริการได้ตามแผนภายในปี 2570 ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้เสนอเรื่องไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้วเพื่อรอบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า
สำหรับสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท มีความพร้อมที่จะเสนอ ครม.ภายในเดือน ต.ค.นี้เช่นกัน ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท รอการพิจารณาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
นายสุรพงษ์กล่าวว่า การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าให้มีความสำเร็จ และมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้นจะต้องมีระบบฟีดเดอร์ที่เชื่อมต่อการเดินทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารเข้าสู่สถานีและเปลี่ยนถ่ายการเดินทางได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งได้มอบให้ ขร. และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เร่งหารือร่วมกันในการจัดฟีดเดอร์เข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าทุกแห่งโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ อาจจะใช้แนวทางการปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารที่มีอยู่เดิม หรือกำหนดเส้นทางใหม่ก็ได้
พร้อมกันนี้ ได้เร่งรัดก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ที่กำลังก่อสร้างอยู่ 4 โครงการ ระยะทาง 613 กม. และให้เร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ รวมถึงการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟสายใหม่ระยะทาง 677 กม. และโครงการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม ระยะเร่งด่วน (ปี พ.ศ. 2566-2570) เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ประเทศ และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
สำหรับปัญหาการก่อสร้างล่าช้า ทั้งรถไฟทางคู่และโครงการรถไฟความเร็วสูง (รถไฟไทย-จีน) )กรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม.นั้น ให้เร่งแก้ปัญหาให้เสร็จภายในปี 2566
ซึ่งโครงการรถไฟไทย-จีน (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ปัจจุบันมีความคืบหน้าประมาณ 27% ตามแผนที่มีการปรับใหม่กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2570 ซึ่งเห็นว่าควรเร่งแผนงานให้เสร็จเร็วขึ้นอีก โดยพบว่ายังมีส่วนที่ไม่ได้เริ่มก่อสร้างอีก 2 สัญญา คือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. ซึ่งมีประเด็น มรดกโลก และการก่อสร้างสถานีอยุธยา
นายสุรพงษ์กล่าวว่า กรณีสถานีอยุธยานั้น ต้องก่อสร้างสถานีตามแบบ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับการก่อสร้างและฝ่ายที่คัดค้านการก่อสร้าง เรื่องนี้ตนจะเจรจากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เห็นว่าประโยชน์ที่จะได้รับมีอะไร และมีผลเสียอย่างไร ทั้งนี้ มั่นใจว่าสถานีอยุธยาสามารถอยู่ร่วมกับชุมชน และเมืองเก่าได้ และจะเป็นสถานีที่สวยที่สุด เป็นแลนด์มาร์กให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมก็ได้ เชื่อว่าเรื่องนี้มีทางออกที่ตกลงร่วมกันได้แน่นอน
ส่วนประเด็นสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) นั้นอยู่ในขั้นตอนการแก้ปัญหาร่วมกับอีอีซี
สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การขนส่งทางราง พ.ศ.... ที่ตกจากการพิจารณาสภาฯ รัฐบาลชุดก่อน ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปรับปรุงในส่วนที่ยังไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
นายสุรพงษ์กล่าวว่า คาดว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ กลับไปยัง ครม. เพื่อพิจารณาได้ภายในปี 2566 ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนต่อไป และคาดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2567 เพื่อให้การกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางมีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศและเทียบเท่าสากล และจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้บริการให้แก่ประชาชนมากขึ้น