“สมศักดิ์” นั่งหัวโต๊ะกลั่นกรองงบรายจ่ายบูรณาการคมนาคมปี 67 ของ 7 กระทรวง 24 หน่วยงาน ปรับวงเงินจาก 2.42 แสนล้านบาทเป็น 2.82 แสนล้านบาท เดินหน้าสร้างมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน และบางใหญ่” ปรับปรุงสนามบินภูมิภาค 27 แห่ง สร้างทางด่วน 2 สาย รถไฟไทย-จีน และทางคู่สายใหม่
วันที่ 27 ก.ย. 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์) โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รองประธานกรรมการฯ) นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนคำของบประมาณเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามปฏิทินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้ ซึ่งกำหนดให้จะต้องจัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2566 การจัดทำข้อเสนอการจัดทำงบประมาณดังกล่าวเป็นการบูรณาการร่วมกันของ 7 กระทรวง 24 หน่วยงาน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างคำของบประมาณบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์) วงเงินรวมทั้งสิ้น 282,446.5164 ล้านบาท (สองแสนแปดหมื่นสองพันสี่ร้อยสี่สิบหกล้านห้าแสนหนึ่งหมื่นหกพันสี่ร้อยบาท)
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า สำหรับร่างคำขอประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เดิมอยู่ที่วงเงิน 2.42 แสนล้านบาท ซึ่งมีการขยายเพิ่มเป็น 2.82 แสนล้านบาท โดยมีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมดำเนินการได้ทันที เช่นถนนของกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพิ่มเติม โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำสรุปข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด และนำเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ตามขั้นตอนต่อไป ส่วนโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทท ให้หน่วยงานสรุปและนำเสนอก่อนวันที่ 5 ต.ค. 2566
สำหรับงบประมาณบูรณาการ ปี 2567 วงเงิน 2.82 แสนล้านบาทนั้นมีเป้าหมายที่ 1 จำนวน 11 หน่วยงาน (สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า กรมท่าอากาศยาน กรมการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) วงเงิน 281,773.4179 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.76 มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่
โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M6 บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี โครงการทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1065 สาย อ.พรานกระต่าย-พิษณุโลก โครงการพัฒนาทางและสะพานโครงข่ายทางหลวงชนบทสนับสนุนด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย โครงการศูนย์ขนส่งชายแดน จังหวัดนครพนมโครงการปรับปรุงท่าอากาศยาน 27 แห่ง โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต โครงการทางหลวงพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา โครงการออกแบบรายละเอียดงานโยธาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นต้น
เป้าหมายที่ 2 จำนวน 14 หน่วยงาน (กรมเจ้าท่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาวงเงิน 673.0985 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.24 มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่
โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนเพื่อรองรับงาน NSW โครงการออกแบบและพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto) ผ่านระบบ NSW โครงการเสริมสร้างความสามารถการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน โครงการส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ การศึกษาเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของประเทศไทย โครงการพัฒนามาตรฐานวิธีการทดสอบรองรับการผลิตชิ้นส่วนและระบบขนส่งทางรางร่วมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) โครงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โครงการพัฒนามาตรฐานการวัดแห่งชาติเพื่อการสอบกลับได้ในการวัดสำหรับการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทย โครงการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
สำหรับการพิจารณาจัดทำงบประมาณบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ ปี พ.ศ. 2567 นี้ถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น จึงต้องบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การนำงบประมาณไปพัฒนางานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศและตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง