“สุริยะ” เร่งแผนพัฒนาระบบคมนาคม จ.ภูเก็ต พร้อมรับนักท่องเที่ยวเพิ่มความสะดวกรวดเร็วขยายถนนเข้าเมืองทะลวงคอขวด เชื่อมแหล่งท่องเที่ยว สั่ง ทล.ปรับแผนเร่ง 4 โครงการ วงเงินรวมกว่า 3.9 พันล้านบาท ลัดคิวจัดงบปี 67 เร่งก่อสร้าง ด่วนกะทู้-ป่าตอง ปักธงเสร็จปี 71
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมเตรียมการและข้อมูลระบบคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตว่า ตามนโยบายของรัฐบาล และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่ได้ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายฟรีวีซ่า ซึ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค ที่มีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศนั้น กระทรวงคมนาคมมีแผนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมรองรับไว้แล้ว ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เชื่อมโยงกับการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งในทุกมิติ อำนวยความสะดวกการใช้บริการของประชาชนและนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ถึงสนามบินขั้นตอนต่างๆ รวดเร็ว และเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ สะดวก โดยจะจัดลำดับ เร่งรัดการดำเนินบางโครงการให้เร็วขึ้นเพื่อตอบโจทย์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ตมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่ 12.5 ล้านคนต่อปี ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.มีแผนการดำเนินงานที่จะขยายสนามบินภูเก็ตระยะ 2 รองรับเป็น 18 ล้านคนต่อปี โดยขยายทั้งพื้นที่ Air Side และ Land Side ให้เต็มศักยภาพ ซึ่งได้กำชับนโยบายการบริการความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว ให้บริการด้วยความสะดวกรวดเร็ว เชื่อมต่ออย่างบูรณาการจากท่าอากาศยานเข้าสู่เมือง และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ให้มีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพ
@เร่งขยายถนน 4 โครงการแก้คอขวดเชื่อมสนามบินภูเก็ต ลัดคิวอัดฉีดงบปี 67 กว่า 3.9 พันล้าน
สำหรับแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด มีการเร่งรัด 2 โครงการให้ดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ 1. การพัฒนาโครงข่ายทางเลี่ยงเมืองภูเก็ต หรือทางหลวงหมายเลข 4027 ตอน บ.พารา-บ.เมืองใหม่ ช่วง กม.14+300-กม. 18+850 ให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 4.55 กิโลเมตร (กม.) ค่าก่อสร้าง 510 ล้านบาท ซึ่งให้กรมทางหลวงเร่งรัดแผนดำเนินการเดิมในปี 2569 เป็นเสนอตั้งงบประมาณปี 2567 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 สถานะ ออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว รายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการกำกับดูแลฯ ในพื้นที่คุ้มครองจ.ภูเก็ตแล้วเมื่อ 16 ส.ค. 2564
2. การพัฒนาถนนแนวใหม่ 4 ช่องจราจร ตอน บ.เมืองใหม่-สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต กม.18+850-กม. 20+800 เชื่อมทางหลวงหมายเลข 4027 และท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะทาง 1.95 กม. ค่าก่อสร้าง 1,067.78 ล้านบาท ค่าเวนคืน 1,400 ล้านบาท สถานะ ออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว รายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการกำกับดูแลฯ ในพื้นที่คุ้มครอง จ.ภูเก็ตแล้วเมื่อ 16 ส.ค. 2564 อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ป่าชายเลนจากคณะรัฐมนตรี ขนานไปกับการเสนอขอออก พ.ร.ฎ.เวนคืน ประมาณ 1 กม.ในปี 2567 และจัดตั้งงบประมาณเพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คาดว่าจะเสนอขอตั้งงบก่อสร้างปี 2568 และเปิดให้บริการได้ปี 2570
3. การก่อสร้างทางแยกต่างระดับแก้ปัญหาการจราจรบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร หรืออุโมงค์ท่าเรือที่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 กับทางหลวงหมายเลข 4027
4. โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 (อุโมงค์ท่าเรือ) ที่ กม.34+680 (ทล.402 ) ค่าก่อสร้าง 2,380 ล้านบาท ค่าเวนคืน 45.81 ล้านบาท สถานะ ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จเมื่อปี 2565 ปัจจุบันอยู่ระหว่าง แก้ไขรายงานตามข้อคิดเห็น คชก. คาดว่าจะได้รับความเห็นชอบเดือน ธ.ค. 2566 จะเสนอตั้งงบประมาณก่อสร้างปี 2567 และเปิดให้บริการปี 2570
นอกจากนี้ ยังมีแผนระยะกลาง คือ การศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาทางหลวงแนวใหม่ สายบ้านป่าคลอก-บ้านบางคู ระยะทาง 5 กม. พร้อมบูรณาการร่วมกับการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ (ทางด่วน) คือ โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. ค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 8,878 ล้านบาท ) ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอเนื่องจากเป็นอุโมงค์ โดยอยู่ระหว่างทบทวนแนวทางที่จะให้ กทพ.ลงทุนก่อสร้างเอง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 และเปิดให้บริการได้ในปี 2571
และระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30.62 กม. มูลค่าลงทุน 42,633 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 22,353 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 20,280 ล้านบาท) โดยโครงการทางพิเศษฯ มีรูปแบบผสมผสานระหว่างโครงสร้างทางยกระดับ อุโมงค์ และทางระดับดิน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2570 และเปิดให้บริการได้ในปี 2573 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะลดเวลาในการเดินทางในเมืองจากเดิม 1.30-2 ชม. เหลือเพียง 20 นาที ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและสามารถรองรับปริมาณการเดินทางและคมนาคมขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน จะพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) สาย MR9 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ระยะทาง 236 กม.
ส่วนแผนระยะยาวที่จะพัฒนาในอนาคต คือการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ ที่ จ.พังงา, การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองภูเก็ต สายสถานีรถไฟท่านุ่น-ท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอม รวมระยะทาง 58.5 กม. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการ รวมถึงโครงการรถไฟทางไกลระหว่างเมือง สายท่าอากาศยานภูเก็ต-ท่าอากาศยานกระบี่ ระยะทาง 149 กม. เชื่อมระหว่างภูเก็ต พังงา และกระบี่ รวมถึงสายสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น ระยะทาง 163 กม. เชื่อมโยงจังหวัดภูเก็ตกับทางรถไฟสายใต้ไปยังโครงข่ายรถไฟทั่วประเทศ เพื่อให้การเดินทางด้วยระบบราง มีความสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
นายสุริยะยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยว เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับจังหวัดภูเก็ตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยั่งยืนตลอดไป