xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนน้ำมันฯ สิ้นปีจ่อติดลบแสนล้าน จับตาสงครามอิสราเอล-ฮามาสชี้ชะตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเปิดฉากโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 ที่ผ่านมายังคงเป็นที่จับตาของทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิดว่าสถานการณ์จะบานปลายลุกลามหรือยืดเยื้อไปนานเพียงใดท่ามกลางการสู้รบและโจมตียังคงมีต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยแล้ว หากการสู้รบจำกัดพื้นที่คงจะไม่ได้รับผลกระทบทางการค้าและการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญมากนักเนื่องจากไทยส่งออกไปอิสราเอลโดยตรงค่อนข้างน้อยมาก รวมไปถึงการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศก็เช่นกัน 
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบระยะสั้นที่การสู้รบจะส่งผลต่อราคาพลังงานโลกมีความผันผวนในระดับสูงเพราะตลาดมีความกังวลว่าการสู้รบจะขยายวงกว้าง โดยจะเห็นได้จากราคาน้ำมันตลาดโลกปิดตลาดวันที่ 13 ต.ค. 66 เบรนต์ปิดที่ 90.89 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปรับขึ้น 4.89 เหรียญ/บาร์เรล ดูไบปิดที่ 88.78 เหรียญ/บาร์เรลเพิ่มขึ้น 1.67 เหรียญ/บาร์เรล และดีเซลขยับมาอยู่ที่ 114.35 เหรียญ/บาร์เรล ปรับขึ้น 2.74 เหรียญ/บาร์เรล 
ราคาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าหากมีการขยายขอบเขตการสู้รบและกลายเป็นการสู้รบระหว่างภูมิภาคขึ้นราคาน้ำมันดิบอาจวิ่งกลับไปสู่ระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรลก็เป็นไปได้สูง .... จึงทำให้ทุกฝ่ายต้องเฝ้าติดตามและเตรียมแผนไว้รองรับแม้ว่า ปัจจุบันรัฐบาลภายใต้การนำโดย "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกเมื่อ 13 ก.ย. 66 ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 2.50 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค. 2566

พร้อมกับใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบริหารจัดการทำให้ดีเซลขายปลีกปรับลด 2 บาท/ลิตรมาเหลือที่ 29.94 บาท/ลิตรและตรึงระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี รวมถึงการตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ 423 บาท/ถัง 15 กิโลกรัมถึงสิ้นปี แต่หากราคายังคงยืนอยู่ระดับสูงต่อเนื่องไปหลังจากนั้นจะรับมืออย่างไร? เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

ย้อนรอยวิกฤตกองทุนน้ำมันฯ ปี 65

การเกิดขึ้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ก่อให้เกิดวิกฤตราคาพลังงาน และไทยยังคงนโยบายตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตรต่อเนื่องจากปลายปี 2564 โดยคลังได้ลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 3 บาท/ลิตร วันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค. 2565 (3 เดือน) ซึ่งไตรมาสแรกปี 2565 ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 37,592 ล้านบาท ท่ามกลางการสู้รบที่ยังคงยืดเยื้อส่งผลให้มีการพิจารณาลดภาษีฯ ดีเซลเป็น 5 บาท/ลิตรจนถึงสิ้น ก.ค. 65 และขยายเวลาต่อเนื่องรวม 7 ครั้ง (สิ้นสุด 20 ก.ค. 66) ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปราว 158,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กองทุนน้ำมันฯ ก็ได้มีการปรับเพดานดีเซล และ LPG ควบคู่กันไปเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ ที่ติดลบหนัก โดยมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อ 27 เม.ย. 2565 ได้ปลดล็อกราคาดีเซลที่ตรึงไว้ 30 บาทต่อลิตร โดยเห็นชอบแนวทางการปรับราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32 บาท/ลิตร จากนั้น กบน.ก็ได้พิจารณาปรับราคาเป็นแบบขั้นบันได โดยมีเพดานราคาไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ส่วน LPG มีการทยอยขึ้นราคา 1 บาท/กก. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ส.ค. 65 รวม 6 เดือน ราคาขยับรวม 90 บาท/กก.มาแตะที่ 408 บาท/ถัง(15กก.) และจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน บวกกับกลุ่มโอเปกพลัสไม่เพิ่มโควตาการผลิตน้ำมัน มีการคว่ำบาตรด้านพลังงานต่อรัสเซีย ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 20 พ.ย. 65 ติดลบสูงสุดถึง 131,405 ล้านบาทแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 89,698 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 43,707 ล้านบาท


ออก พ.ร.ก.กู้เงินเสริมสภาพคล่องกองทุนฯ 1.5 แสนล้าน

แม้ว่าระหว่างทางนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานขณะนั้นจะพยายามเจรจาโรงกลั่นน้ำมันในประเทศให้ลดค่าการกลั่นลงตามเสียงเรียกร้องจากบางฝ่ายเพื่อช่วยเหลือเพราะมีการมองว่าค่อนข้างจะสูงเกินจริง แต่ในที่สุดก็ทำอะไรไม่ได้ ท้ายสุดต้องจบลงด้วยการที่ ครม.เมื่อ 16 ส.ค. 65 เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) พ.ศ. …. และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอโดยมีกรอบวงเงินอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท

จากนั้นกองทุนน้ำมันฯ ได้มีการกู้เงินล็อตแรก 30,000 ล้านบาทโดยเป็นการทยอยกู้ที่วงเงิน 50,000 ล้านบาท มาเติมสภาพคล่องในช่วง พ.ย. 65 จากธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลงทำให้กองทุนฯ มีการเก็บเงินดีเซลบางส่วนเข้าสะสมราว 1.10 บาท/ลิตร เมื่อสิ้นปี 2565 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลงเหลือราว 123,155 ล้านบาท
 


คาดสิ้นปี 66 กองทุนน้ำมันฯ ส่อติดลบแสนล้าน

เริ่มต้นปี 2566 กองทุนน้ำมันฯ ยังคงใช้กลไกบริหารราคาดีเซลและ LPG ต่อเนื่องแต่ในที่สุดคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ก็ต้องขยับราคา LPG อีกครั้งมีผลวันที่ 1-31 มี.ค. 66 อีก 1 บาท/กก. ส่งผลให้ราคาแตะ 423 บาท/ถัง 15 กก. เนื่องจากราคาโลกผันผวนหนัก ฐานะกองทุนฯ ยังคงติดลบสูงระดับ 100,000 ล้านบาท ขณะที่ดีเซลยังคงตรึงราคาไว้ที่ 31.94 บาท/ลิตรต่อเนื่องแม้ว่าบางช่วงจังหวะดีเซลตลาดโลกจะเริ่มอ่อนตัวก็ตามเพื่อเก็บเงินส่งเข้ากองทุนฯ ในการคืนหนี้
สถานการณ์กองทุนน้ำมันฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังราคาน้ำมันตลาดโลกอ่อนตัวต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยซึ่งส่งผลให้ดีมานด์ปรับตัวลดต่ำ ทำให้สถานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 23 ก.ค. 66 ติดลบเหลือ 48,477 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 3,124 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,353 ล้านบาท และเมื่อดูราคาดีเซลมีการปรับลดลงรวม 7 ครั้ง จากราคา 34.94 บาท/ลิตรมาเป็น 31.94 บาท/ลิตร จนปัจจุบันราคาลดลงมาอยู่ที่ 29.94 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ที่ให้ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค. 2566 โดยใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตลง 2.50 บาท/ลิตร และตรึง LPG ที่ 423 บาท/ถังไปถึงสิ้นปี โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาราคา

ทั้งนี้ การกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนฯ ได้มีการดำเนินการควบคู่มาต่อเนื่องโดย สกนช.ได้ทยอยกู้ยืมเงินโดยสอดคล้องกับแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2566 โดยลงนามในสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท ปัจจุบัน สกนช.เบิกเงินกู้ยืมแล้วจำนวน 55,000 ล้านบาท และมีวงเงินกู้ยืมที่เบิกได้อีก 50,333 ล้านบาทที่จะนำมาดูแลราคาดีเซลและ LPG ตามนโยบายรัฐบาลโดยประเมินกันว่ากองทุนน้ำมันฯจะติดลบราว 100,000 ล้านบาทได้เมื่อถึงสิ้นปี (ภายใต้สมมติฐานดีเซลตลาดโลก 120- 130 เหรียญ/บาร์เรล) จาก ณ วันที่ 8 ต.ค. 66 กองทุนฯ ติดลบ 68,327 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 23,322 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,005 ล้านบาท

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีการควักอุดหนุนดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 บาท/ลิตร ขณะเดียวกันฝั่งของ LPG เองกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของกองทุน 2 นั้นมีการอุดหนุนอยู่ที่ราว 7 บาท/กก. หักลบกับกองทุน 1 แล้วเท่ากับอุดหนุนราว 5 บาทกว่า/กก. ส่งผลให้กองทุนฯ มีเงินไหลออกราว 400 ล้านบาท/วัน หรือราว 10,000 กว่าบาท/วัน ซึ่งหากยิ่งราคาน้ำมันและ LPG ตลาดโลกเพิ่มสูงเท่าใดรายจ่ายก็ยิ่งมากขึ้นตามตัว....

เตรียมรับมือปี 67 กู้ต่อหรือพอแค่นี้?

การลดราคาดีเซลที่ 29.94 บาท/ลิตรและตรึงต่อไปถึงสิ้นปี 2566 เช่นเดียวกับ LPG ที่ถังละ 423 บาท ตามนโยบาย "เศรษฐา" ที่ทำงานเร็วตามที่หาเสียงไว้นั้นต้องยอมรับว่าเริ่มนับถอยหลังก็จะสิ้นปีแล้ว.... กระทรวงพลังงานเองมีการเตรียมตัวไว้เบื้องต้นกรณีรัฐบาลจะเดินหน้ากระเตงกันต่อไปโดยมีให้เลือกหลายแนวทางที่ยังคงเป็นเครื่องมือเดิมๆ ทั้งการลดภาษีสรรพสามิต การขอเงินกู้เพิ่ม การขอรับเงินบริจาคสนับสนุน การของบประมาณดำเนินการ ฯลฯ

สำหรับการกู้เงินเพิ่มทั้งด้วยตัวกองทุนน้ำมันฯ เองภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ซึ่งมีวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทหรือแม้แต่จะกู้ด้วยแนวทางอื่นๆ เข้ามา สิ่งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญคือ รายได้ ที่จะต้องมีให้เจ้าหนี้เห็นว่าจะมาจากไหน เพราะขณะนี้กองทุนฯ ยังคงควักจ่ายมือเป็นระวิงแม้ว่าเงินกู้ส่วนนี้คลังจะค้ำประกันก็ตาม .... เพราะรายได้หลักที่กองทุนน้ำมันฯ ได้รับคือการเก็บเงินจากตัวน้ำมันเองแต่วันนี้ที่เก็บได้กลายเป็นจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน ที่ดูจะไม่แฟร์เอาซะเลยในการนำมาอุดรอยรั่วให้กับผู้ใช้ดีเซลในช่วงที่ผ่านๆ มา

ดังนั้น หากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงทรงตัวระดับสูงแต่รัฐบาลยังตั้งหน้าตั้งตาลดราคาเพียงอย่างเดียว อาจจะต้องพิจารณาทางเลือกที่ทำควบคู่กันไป นั่นคือ การขยับเพดานดีเซลเพิ่มขึ้นจากที่ตรึงไว้ระดับ 29.94 บาท/ลิตร เพราะรัฐเองก็กำหนดกรอบเพดานที่กำหนดไว้ก็ไม่เกิน 35 บาท/ลิตรอยู่แล้วก่อนหน้า และการปรับขึ้น LPG ที่เตรียมแผนไว้แล้วที่จะขึ้นอีก 1 บาท/กก.หรือจากขณะนี้ถังละ 423 บาทก็จะเป็น 438 บาท/ถัง 15 กก. ก็อาจถึงคราวต้องงัดมาใช้หรือไม่?

พร้อมกันนี้ ควรมองแนวทางเรื่องของการประหยัดพลังงานแบบจริงๆ จังๆ กันเสียทีเพราะต้องไม่ลืมว่าการที่ตรึงราคาดีเซลต่ำๆ แบบนานๆ ได้ส่งผลให้การใช้ดีเซลมีจำนวนมากขึ้นจนวันนี้เฉลี่ยกว่า 60 ล้านลิตร/วันแล้วจากอดีตเคยวิ่งอยู่ราวๆ 50 ล้านลิตร/วัน แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวแต่หากย้อนอดีตก็เติบโตการใช้ก็ยังไม่มากเช่นนี้

ดังนั้น หากสงครามขยายวงกว้างและอาจลามมาสู่ทะเลจีนใต้ในอนาคต เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่ภาครัฐต้องเตรียมหามาตรการไว้รองรับให้พร้อม ...โดยเฉพาะพลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ธุรกิจและการค้า ...การดูแลราคาพลังงานด้วยการอุ้มจึงต้องมองให้ไกลและต้องทำในช่วงวิกฤตจริงๆ ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาลดราคาเพื่อเรียกคะแนนเสียง เพราะภาระเหล่านี้ประชาชนเป็นผู้จ่าย แถมการกู้เงินมาอุดหนุนยังต้องบวกเพิ่มดอกเบี้ยเข้าไปอีก ....

หากเลือกได้ขอให้การสู้รบในอิสราเอลเจอหนทางแห่งสันติภาพนำไปสู่การเจรจาเพื่อยุติการสู้รบจะดีกว่า ...เพราะลำพังแค่นี้ประชาชนคนไทยก็แบกภาระหนี้น้ำมันมากพอแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น