xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เกาะติดความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ แนะรัฐเตรียมพร้อมขั้นสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เฝ้าระวังความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ใกล้ชิด ส่งสัญญาณทุกฝ่ายเตรียมตัวรับมือหากการสู้รบอิสราเอล-ฮามาสขยายพื้นที่ รวมไปถึงต้องเกาะติดสมรภูมิทางฝั่งทะเลจีนใต้หากเกิดซ้ำรอยเหมือนที่อื่นๆ ไทยจะกระทบหนักสุด หวังรัฐเร่งหามาตรการดูแลพลังงานปี 2567 ไว้ล่วงหน้า ขณะที่ก.พลังงานย้ำยังดูแลดีเซล LPG ตามนโยบายถึงสิ้นปี ส่วนปี 67 ต้องดูราคาโลกเป็นสำคัญ ยันมีแผนรับมือ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะใน 3 สมรภูมิหลักสำคัญ ตั้งแต่การเกิดขึ้นของการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน และล่าสุดกรณีการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาส (Hamas) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ปาเลสไตน์ พร้อมกันนี้ยังรวมถึงบริเวณทะเลจีนใต้ที่เริ่มมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวหากบานปลายย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องวางแผนรับมือเอาไว้

ทั้งนี้ ผลกระทบการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนจะเห็นได้ชัดเจนในด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และวัตถุดิบต่างๆ โดยเฉพาะปุ๋ย ฯลฯ ทำให้ต้นทุนการผลิตและกระทบต่อราคาสินค้าปรับขึ้น ขณะที่การสู้รบในอิสราเอลหากจำกัดพื้นที่จะกระทบราคาน้ำมันให้ผันผวนระดับสูงระยะสั้นเท่านั้นแต่ในส่วนอื่นๆ จะกระทบไม่มาก แต่หากสถานการณ์บานปลายมีหลายชาติพันธมิตรเข้าร่วมในการทำสงครามก็อาจจะส่งผลให้สงครามยืดเยื้อและมีผลกระทบมากขึ้นเนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบที่สำคัญของโลกจะส่งผลราคาน้ำมันอาจเห็นระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรลขึ้นไปได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในทะเลจีนใต้นั้นหากเกิดขึ้นจะกระทบไทยมากที่สุดเนื่องจากในบริเวณดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับเส้นทางขนส่ง (โลจิสติกส์) ทั้งด้านพลังงาน สินค้าต่างๆ เป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญที่จะกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต (ซัปพลายเชน) ของอุตสาหกรรมต่างๆ จะสะดุดลง ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูงหากเกิดขึ้น จึงได้แต่หวังว่าเหตุการณ์ในภูมิภาคนี้จะไม่ซ้ำรอยเช่นภูมิภาคอื่น

“ไทย ระยะสั้นคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นซึ่งภาครัฐก็ได้เข้ามาดูแลส่วนของดีเซลและค่าไฟฟ้าก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าลืมว่าหากบานปลายไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซฯ จะกระทบหนัก ขณะที่มาตรการดูแลพลังงานโดยเฉพาะดีเซลจะสิ้นสุดใน 31 ธ.ค. 66 นี้แล้ว หากสถานการณ์ยืดเยื้อในปี 2567 จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมมาตรการต่างๆ ไว้ดูแลเศรษฐกิจ” นายเกรียงไกรกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ปัจจุบันรัฐกำหนดตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 29.94 บาท/ลิตร คงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) 423 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม (กก.) ไปจนถึง 31 ธ.ค. 66 ส่วนจะมีมาตรการต่อไปอย่างไรในปี 2567 คงจะขึ้นอยู่กับนโยบายจากกระทรวงพลังงานและรัฐบาลเป็นสำคัญ โดยมีการประเมินแล้วว่าการดูแลราคาพลังงานในส่วนของการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปจนถึงสิ้นปีดังกล่าวจะส่งผลให้กองทุนฯ มีฐานะสุทธิติดลบประมาณ 1 แสนล้านบาทจาก ณ วันที่ 8 ต.ค. 2566 ฐานะกองทุนฯ สุทธิยังคงติดลบอยู่ 68,327 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 23,322 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,005 ล้านบาท ภาพรวมเงินไหลออกจากกองทุนฯ 223.44 ล้านบาท/วัน หรือคิดเป็น 6,703 ล้านบาท/เดือน

“เราได้ประเมินราคาดีเซลโลกไว้แล้วถึงสูงสุด 130 เหรียญ/บาร์เรล ดังนั้นกรอบเงินกู้ที่เหลืออยู่ราว 5 หมื่นล้านบาทจึงเพียงพอดูแลทั้งดีเซลและ LPG ถึงสิ้นปี แต่ยอมรับว่าหากต้องดูต่อในปี 2567 อาจจะดูได้อีกราว 1-2 เดือนจากเงินที่มีอยู่แต่ทั้งนี้คงต้องติดตามราคาพลังงานว่าจะมีทิศทางอย่างไรเป็นสำคัญ โดยได้มีการเตรียมแผนรองรับไว้เบื้องต้นแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น