รมว.พลังงาน แจง ครม.ตีตกมาตรการลดราคาน้ำมันเบนซิน เพราะไม่ตอบโจทย์ รัฐบาลให้หาแนวทางที่ 3 ลดราคาในภาพรวมเช่นเดียวกับดีเซล พร้อมส่งเรื่องกลับมาภายใน 2 สัปดาห์ ตั้งคณะกรรมการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งระบบ กำหนดกรอบทำงานแต่ละคณะ 30-60 วัน
วันนี้ (16ต.ค.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวว่า มีการนำเสนอแนวทางการลดนำมันเบนซิน ใน 2 มาตราการ คือ 1.มาตรการช่วยเหลือมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และ 2.ขยายความช่วยเหลือจากมอเตอร์ไซด์รับจ้างไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ ให้ที่ประชุมครม.รับทราบว่า แนวทางที่ 1 จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สนับสนุนจากภาครัฐ 95 ล้านบาทเศษ ส่วนแนวทางที่ 2 มีค่าใช้จ่ายที่สนับสนุน เดือนละ 4,000 กว่าล้านบาทเศษ ทั้งนี้แนวทางทั้ง 2 แบบ ทันทีที่ตนเองได้รับทราบเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากนโยบายของเราโดยเฉพาะตนเองและรัฐบาล เห็นตรงกันว่า จะต้องลดราคาน้ำมันเป็นภาพรวม ไม่ใช่ช่วยเหลือเป็นกลุ่มๆ
ทั้งนี้ ตนเองได้บอกกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า ให้กลับไปเพิ่มแนวทางที่ 3 เพื่อเสนอต่อครม.ต่อไป ซึ่งเป็นแนวทาง 3 คือ การลดราคาน้ำมันแบบภาพรวม เช่นเดียวกับการลดน้ำมันดีเซล ดังนั้น เมื่อช่วงเช้าการประชุมครม.เรื่องนี้ ตนเองก็ได้มีการเสนอแนวทางตามที่ได้กล่าวมา และตนเองไม่เห็นด้วย เพราะต้องการลดราคาน้ำมันเบนซิน ซึ่งตนเองเคยให้แนวทางไปว่า อย่างน้อยน้ำมันดีเซลได้นำราคาน้ำมันดีเซลในระดับต่ำสุดมาลดราคา ดังนั้น ก็ควรนำน้ำมันเบนซินแบบต่ำสุดมาลด ส่วนภาระค่าใช้จ่ายจะมีแค่ไหน รัฐบาลรับได้แค่ไหน ลดได้เท่าไร รัฐบาลก็จะตัดสินใจเอง หน่วยงานต่างๆไม่ต้องเกี่ยวข้อง แค่นำเสนอมาเท่านั้น
ทั้งนี้ ต้องขอบคุณ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่เห็นด้วยกับแนวทางตนเอง และเสนอแนวทางที่ 3 ว่าจะต้องลดราคาน้ำมันเบนซินทั้งระบบ โดยจะต้องเป็นเงินจำนวนบาทที่ลดลง เช่น 2.50 บาท เป็นต้น แต่ทั้งนี้ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อก่อน แต่อย่างน้อยวันนี้ได้รับความเห็นชอบใช้แนวทางที่ 3 ตามที่ตนเสนอ
ส่วนจะใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินหรือไม่ นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า ต้องไปศึกษาในรายละเอียด ซึ่งได้มีการมอบหมายแนวทางและเป้าหมายไปศึกษาแล้ว ส่วนวิธีการเป็นเรื่องผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยจะให้แล้วเสร็จภายใน 2 อาทิตย์นี้ ส่วนจะใช้วงเงินเยอะหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้และต้องศึกษาผ่านกระทรวงการคลัง ส่วนจะใช้เงินกองทุนน้ำมันหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะให้แนวทางไปแล้ว ให้ผู้เกี่ยวข้องไปศึกษา ว่าต้องทำอย่างไร แต่ต้องพยายามทำให้ได้ ตามแนวทางที่ให้ไป
พร้อมยอมรับว่า มีปัญหาด้านโครงสร้างน้ำมันเบนซินในหลายเรื่อง ซึ่งตนเองก็ไม่เข้าใจ เพราะเพิ่งทำงานได้เพียงเดือนกว่า แต่คนที่ทำงานเป็นปีๆยังไม่สามารถให้คำตอบตนเองได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกประหลาด ดังนั้น จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ตนเองต้องศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงและดำเนินการให้ได้ชัดเจน นั้นก็คือ เรื่องโครงสร้างและราคาน้ำมัน ซึ่งสามารถปรับลดตรงไหนได้ในภาพรวมก็จะดำเนินการ ยืนยันว่า การปรับลดราคาน้ำมันตั้งแต่ก.ย. จนถึงวันนี้ อยู่บนพื้นฐานและโครงสร้างที่ใช้กันมานานนับ 10 ปี แต่ตนเองคิดหาแนวทางวิธีการว่าจะทำอย่างไร ให้สามารถปรับลดราคาน้ำมันลงได้มากกว่านี้ และยั่งยืนกว่านี้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฏหมาย และไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องมีเป้าหมายชัดเจนเป็นเรื่องยากกว่า
ทั้งนี้ ตนเองกำลังตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อตรวจสอบค่าการตลาดน้ำมันแต่ละค่ายอย่างเป็นทางการแล้ว ส่วนการพูดคุยกับบริษัทน้ำมันต่างๆ ก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพูดคุยมาก็ถือเป็นความลับ ข้อมูลทางการค้า ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อหาคำตอบ และต้องยึดถือข้อมูลอย่างเป็นทางการ เมื่อไม่ให้ข้อมูลก็ต้องเอาจากข้าราชการเป็นหลัก เมื่อให้โอกาสชี้แจงแล้วก็ไม่มา เมื่อไม่มาก็ช่วยไม่ได้ ซึ่งโครงสร้างราคาน้ำมัน มีตั้งแต่หน้าโรงกลั่น ซึ่งราคาหน้าโรงกลั่นที่บวกราคาค่าการกลั่น ซึ่งตนเองไม่อยากใช้คำพูดนี้ เมื่อพูดถึงค่าการกลั่น เหมือนมีค่าใช้จ่ายในการกลั่น แต่จริงๆไม่ใช่ ค่าการกลั่นหมายถึง กำไรเบื้องต้นแล้ว
ส่วนค่าใช้จ่ายในการกลั่นอยู่ในงบดำเนินงาน ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ตนเองได้บอกกับเจ้าหน้าที่กระทรวงว่า สามารถเปลี่ยนคำได้หรือไม่ เพราะไปใช้คำว่า ค่าการกลั่น คนทั่วไปก็คิดว่า เป็นค่าใช้จ่าย แต่ความจริงไม่ใช่มันคือ กำไรอยู่แล้ว
ส่วนโครงสร้างพลังงานจะแล้วเสร็จเมื่อไร นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า ตนเองทำคนเดียวไม่ได้ ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำแล้ว และเริ่มประชุม 18 ต.ค. นี้ ส่วนกรอบเวลาตนให้ไปภายใน 30-60 วัน ซึ่งตนเองได้ตั้งคณะกรรมการอีกหลายคณะ เพื่อมาดูเรื่องนี้ เพื่อไม่รอให้เสียเวลา เมื่อภารกิจแต่ละหน่วยงานมาก แต่มีเป้าหมายของเราที่ต้องทำ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานเอง เพื่อจะได้คำตอบเร็วขึ้น
ส่วนเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือกฟผ. นั้น นายพีรพันธุ์ ยืนยันว่่า ไม่เกี่ยวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่อยากเรียนให้ทราบว่า หลังจากได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่า ปรากฏว่า เอกสารที่ส่งไปมารายงานข้อมูลล่าสุด เพิ่งส่งมาที่ตนเอง เมื่อ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งการเดินสารมาเมื่อไรไม่ทราบ เมื่อมาถึงตนเองก็ให้ไปตรวจสอบ โดยเริ่มต้นเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ได้เชิญปลัดและผู้เกี่ยวข้อง มาสอบถามว่า เรื่องนี้ได้รับแจ้งจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า ทางกกต.ที่รับเรื่องนี้ไปพิจารณาแต่งตั้ง ได้ส่งเรื่องกลับคืน ตนเองจึงได้รับคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีหน้าที่นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม. ไม่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินว่า จะเอาใครหรือไม่เอาใคร
นอกจากนี้ได้นำเข้าที่ประชุมครม.มาแล้ว เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา มติครม.ว่าอย่างไร และยุติแล้ว ตนเองมาเป็นรัฐมนตรีวันนี้ก็มีหน้าที่นำกลับเข้าสู่ที่ประชุมครม.แต่ปรากฏว่า เมื่อตรวจสอบมติครม.เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ครม.ได้เห็นชอบแต่ส่งเรื่องไปยังกกต.อีกครั้ง นั้นหมายความว่า มติครม.วันนั้นเป็นมติที่มีเงื่อนไข ตนเองจึงได้สอบถามกฤษฏีกา และเลขาครม.ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องทำอย่างไร ซึ่งได้รับคำตอบว่า ตนเองต้องส่งเรื่องกลับไปที่กฟผ. เพื่อให้ยืนยันกลับมา เพื่อให้รัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเป็นรัฐบาลใหม่ดำเนินการต่อ หากกฟผ.ยืนยันกลับมา ก็จะนำเสนอครม.ตามหน้าที่ ดังนั้นวันนี้ตนเองได้นำเรื่องนี้กลับไปยังกฟผ.ให้เสนอเรื่องกลับมา ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.