xs
xsm
sm
md
lg

“มนพร” ดันสร้างทางด่วน S1 แก้รถติดท่าเรือ งบ 4 พันล้าน เปิดประมูลต้นปี 67-กำชับแก้ปมแหลมฉบังเฟส 3 ล่าช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มนพร” เร่ง กทท.ดันแผนสร้างทางด่วน S1 วงเงิน 4 พันล้านในต้นปี 67 เชื่อมท่าเรือกรุงเทพแก้รถติด กำชับแก้ปัญหาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ให้เสร็จตามกรอบเวลา หนุนผุดท่าเรือท่องเที่ยว (Cruise Terminal) ตึก OB รองรับเรือสำราญขนาดกลาง

วันที่ 17 ตุลาคม 2566 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมมอบนโยบาย พร้อมตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน และเปิดสถาบันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ (Maritime Logistics Institue: MLI) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า กทท.มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศในเวทีการค้าโลก โดยมีนโยบายสำคัญคือ การบริหารสัญญา PPP เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด, ให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามกระบวนการด้วยความโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับของสังคม ส่งเสริมการบริหารจัดการสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Assets Management) โดยเร่งหารายได้จากการบริหารทรัพย์สินให้มากขึ้น เช่น การนำที่ดินที่มีศักยภาพมาประมูล/ให้เช่าเพื่อสร้างรายได้ให้แก่องค์กร รวมทั้งพัฒนาระบบการบริหารสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์และสามารถแก้ไขปัญหาชุมชน

มีการนำเทคโนโลยีพร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการให้บริการ การพัฒนาระบบท่าเรืออัตโนมัติ (Port Automation) โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมของท่าเรือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการให้บริการ รวมทั้งนำระบบอัตโนมัติ (Automated Operation) ที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้ในการให้บริการเพื่อมุ่งสู่การเป็น Smart Port


@ ดันสร้างทางด่วน S1 เชื่อมท่าเรือกรุงเทพ แก้รถติด

ทั้งนี้ จะผลักดันโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กม. วงเงินลงทุนรวม 4,445.80 ล้านบาท (กทท.รับผิดชอบลงทุน 2,000 ล้านบาทการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รับผิดชอบ 2,000 ล้านบาท) เพื่อลดผลกระทบปัญหาจราจร

และส่งเสริมต่อยอดระบบโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน มีการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Transport) โดยบูรณาการระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบให้เชื่อมต่อทางบก ทางราง และทางน้ำ อย่างไร้รอยต่อให้มีความสะดวกและรวดเร็ว


@เร่งแก้ปัญหาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ให้เสร็จตามกรอบเวลา

นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดการเพิ่มขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ กำชับให้ดำเนินงานการจัดซื้อจัดจ้างและการปฏิบัติงานในทุกกิจกรรมให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้

รวมถึงการสนับสนุนให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นท่าเรือท่องเที่ยวในลักษณะคอมมูนิตีที่ทันสมัยสำหรับนักท่องเที่ยว (Cruise Terminal) บริเวณตึก OB เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีผู้โดยสารระดับ 1,000 คนขึ้นไป เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ


@คาดประมูลทางด่วน S1 ในต้นปี 67

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า โครงการทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ขณะนี้รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านการตรวจจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (EIA) และรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาสัดส่วนการลงทุนร่วมกับกทพ.

โดยตามแผนปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) โดย กทพ.จะเป็นผู้ประมูลช่วงเดือน ม.ค. 2567-มี.ค. 2567 เริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2567 เปิดให้บริการปี 2570

ทั้งนี้ จะต้องมีการเจรจากับชุมชนท่าเรือคลองเตย 101 ที่ได้รับผลกระทบจากแนวเส้นทางโครงการ โดย กทท.เสนอทางเลือกที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ในโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) เพื่อเยียวยา


ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 114,046.93 ล้านบาท (กทท.ลงทุน 53,489.58 ล้านบาท เอกชนลงทุน 60,557.35 ล้านบาท) ล่าสุด กทท.ส่งมอบงานก่อสร้างงานทางทะเลในส่วนของงานพื้นที่ถมทะเล 1 (Key Date 1), พื้นที่ถมทะเล 2 (Key Date 2) ให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เอกชนคู่สัญญาเรียบร้อยแล้ว

ส่วนพื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) คาดส่งมอบพื้นที่ท่าเทียบเรือ F ขนาด 1,000 เมตร ให้ GPC ได้ภายในกลางปี 67

ส่วนที่ 2 งานจ้างเหมา ก่อสร้างโครงการฯ ได้แก่ งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค วงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนจำหน่ายเอกสารการประกวดราคา ครั้งที่ 2 ซึ่งจะครบกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 15 ธ.ค. 2566 เนื่องจากครั้งที่ 1 มีผู้ยื่นเสนอเอกสารการประมูลรายเดียว

ในส่วนงานที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนงานที่ 4 งานติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อยู่ระหว่างการทบทวนการออกแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่า จะเปิดประมูลได้ในปี 2567

ผลดำเนินการปี 2566 กทท.มีรายได้ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท มีผลกำไร 6,890 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 72 ปีนับตั้งแต่เปิดการดำเนินการ โดยตั้งเป้าหมายในปี 67 จะมีกำไร 7,000 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น