กทพ.จัดรับฟังความเห็นครั้งที่ 1 ศึกษารูปแบบลงทุนทางด่วน "ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ" วงเงินเกือบ 3 หมื่นล้านแก้รถติดเชื่อมสนามบิน ด้านชาวบ้าน-สจล.เสนอก่อสร้างตอม่อตรงกลาง
วันที่ 11 ต.ค. 66 ที่ JW Convention Hall เขตสวนหลวง นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่า เป็นการปฐมนิเทศโครงการเพื่อรับฟังความเห็นประชาชน
โดยเส้นทางโครงการฯ จะเชื่อมจากปลายทางของทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี พระราม 9-ศรีนครินทร์) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกซ้อนทับแนวสายทางถนนมอเตอร์เวย์ สาย 7 เชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (มอเตอร์เวย์ สาย 9 บางนา-บางปะอิน) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสิ้นสุดโครงการบริเวณพื้นที่ลาดกระบัง ระยะทาง 18 กม.
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว กทพ.รับโอนจากกรมทางหลวง ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และ กทพ. โดยมีขอบเขตกำหนดการศึกษาในด้านต่างๆ 5 ส่วนงาน คือ 1. งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม 2. งานสำรวจและออกแบบกรอบรายละเอียด (Definitive Design) 3. งานประชาสัมพันธ์โครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชน 4. งานศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รวมถึงการประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) 5. งานจัดทำกรอบสาระสำคัญของประกาศเชิญชวน เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่างสัญญาร่วมลงทุน และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยจะใช้เวลาศึกษา 1 ปี 3 เดือน หรือ 450 วัน เริ่มศึกษาวันที่ 13 มิ.ย. 66 สิ้นสุดวันที่ 4 ก.ย. 67 ภายหลังการศึกษาแล้วเสร็จจึงจะทราบรูปแบบโครงการที่ชัดเจน อาจจะอยู่ตรงกลาง หรือเบี่ยงซ้าย-ขวา อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับแบบโครงสร้างเดิมที่ ทล.เคยศึกษาไว้ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน และจำนวนเงินลงทุน จากเดิมวงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่วนรูปแบบการลงทุน เบื้องต้น กทพ.อาจจะลงทุนเองหรือให้เอกชนลงทุน ต้องรอดูผลการศึกษาก่อน
นอกจากนี้ จะต้องหารือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เรื่องผลกระทบจากโครงการที่เคยกังวล ให้ได้ข้อยุติก่อนเดินหน้าศึกษา ไม่อยากให้เกิดปัญหาเหมือนกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรณีทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N1 ระหว่างนี้จะศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 70 ใช้เวลา 3 ปี กำหนดแล้วเสร็จเปิดใช้งานปี 73
สำหรับประโยชน์ของโครงการจะช่วยอำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ให้ประชาชนที่เดินทางจากในเมืองมุ่งหน้าสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะใช้ทางด่วนต้องลงมาใช้ถนนมอเตอร์เวย์ หากมีโครงการดังกล่าวจะช่วยแยกคนที่จะไปสนามบินสุวรรณภูมิโดยตรง แก้ไขปัญหาจราจรติดขัดช่วงจุดตัดศรีนครินทร์-สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน และบรรเทาปัญหาการจราจร บนถนนมอเตอร์เวย์สาย 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี-มาบตาพุด รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น
นายสุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดี สจล. กล่าวว่า โครงการเดิมของกรมทางหลวง ออกแบบโครงสร้างเสาตอม่อ 2 เสาคร่อมถนนมอเตอร์เวย์ ซึ่ง สจล.คัดค้านเพราะส่งผลกระทบต่อประชาชนสองข้างทางอย่างมาก แต่รูปแบบใหม่ของ กทพ.จะก่อสร้างเสาตอม่อตรงเกาะกลางถนน คาดว่า สจล. จะไม่คัดค้าน
สำหรับความเห็นของประชาชนเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเสาตอม่อตรงเกาะกลาง เพราะถ้าสร้างเสาตอม่อชิดสองข้างทางจะส่งผลกระทบต่อชุมชนมากกว่า