xs
xsm
sm
md
lg

ทล.ดันประมูล O&M มอเตอร์เวย์ 'บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว' ต้นปี 67 เร่งโยธา 3 ตอนแรกเสร็จกลางปี 67 เปิดวิ่งฟรีถึงเอกชัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทล.ลงนามข้อตกลงคุณธรรม O&M มอเตอร์เวย์ 'บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว' มูลค่า 1.5 หมื่นล้าน เตรียมจัด Market Sounding ร่าง RFP ตั้งเป้าเปิดประมูลต้นปี 67 สร้าง 2 ปี เปิดเต็มรูปแบบในปี 69 “สราวุธ” เร่งโยธา 3 ตอนแรก “บางขุนเทียน-เอกชัย” เสร็จกลางปี 67 ดันเปิดวิ่งฟรีได้ก่อน

วันที่ 10 ต.ค. 2566 กรมทางหลวง (ทล.) ลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินการและบำรุงรักษา (O&M) ร่วมกับผู้สังเกตการณ์ ประกอบด้วย ดร.สุวัฒน์ วาณีสุบุตร นายอนันต์ เกษเกษมสุข นางวาสนา สุทธิเดชานัย และนางสุจิตร สุตตเขตต์ และร่วมประชุมเริ่มต้นโครงการร่วมกัน (Kick Off Meeting) กับคณะผู้บริหารองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า การลงนามข้อตกลงคุณธรรมเป็นไปตามข้อกำหนดภายใต้ประกาศสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตในโครงการร่วมลงทุน ส่งผลให้กระบวนการคัดเลือกเอกชนเป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน


สำหรับมอเตอร์เวย์สาย 82 ทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว มีระยะทาง 24.7 กม. มีวงเงินลงทุนรวม 31,000 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 2 ช่วง 1. ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 8.34 กม.และ 2. ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.356 กม. โดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost เป็นระยะเวลาไม่เกินที่ 32 ปี เป็นการดำเนินงาน B-T-O โดยระยะที่ 1 เอกชนจะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องด้วยรูปแบบระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (ระบบ M-Flow) ทั้งโครงการ และต้องถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนให้ภาครัฐก่อนเริ่มดำเนินโครงการ (ไม่เกิน 2 ปี)

ระยะที่ 2 เอกชนจะเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการทั้งหมด ทั้งงานโยธาในส่วนที่รัฐเป็นผู้ลงทุน และงานระบบในส่วนที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน ตลอดจนเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างและนำส่งข้อมูลรายการผ่านทาง (Transaction Generation) ทั้งหมดให้แก่ภาครัฐ รวมทั้งดำเนินงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตงานและเงื่อนไขที่กำหนด โดยเอกชนจะได้รับเงินค่าตอบแทนจากการให้บริการ


@ขายซองประมูลต้นปี 67 เปิดใช้ปี 69

ปัจจุบัน ทล.ได้ดำเนินการจัดทำร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) แล้วเสร็จ หลังจากนี้จะประชุมร่วมผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม 2-3 ครั้งเพื่อรับข้อเสนอแนะ จากนั้นจะนำร่าง RFP เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ได้ช่วงปลายปี 66 นี้ คาดว่าจะนำความเห็นเอกชนปรับปรุงร่าง RFP แล้วเสร็จ และประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนและจำหน่ายเอกสาร RFP ในไตรมาส 1/2567 (ต้นปี 67) ให้เอกชนยื่นข้อเสนอในไตรมาส 3/2567 สรุปผลการคัดเลือกไตรมาส 4/2567 เสนอ ครม.และลงนามสัญญาในปลายปี 2567 หรือไม่เกินไตรมาส 1/2568 ดำเนินการติดตั้งระบบ 2 ปี คาดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปี 2569

นายสราวุธกล่าวว่า ในการก่อสร้างงานโยธาช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 8.3 กม. วงเงิน 10,477.386 ล้านบาท แบ่ง 3 สัญญา ใช้งบประมาณดำเนินการ ผลงาน ณ เดือน ก.ย. 2566 ปัจจุบันคืบหน้า 86.45% ล่าช้ากว่าแผน 13.52% คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2567 ซึ่งคาดว่าอาจจะเปิดให้ใช้ทางฟรีไปก่อน

ส่วนช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.356 กม. วงเงิน 18,759 ล้านบาท แบ่งงานโยธาก่อสร้าง 10 สัญญา ใช้เงินกองทุนค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์ก่อสร้าง ผลงาน ณ เดือน ก.ย. 2566 ปัจจุบันคืบหน้า 33.946% ล่าช้ากว่าแผน 0.429% ซึ่งจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จในกลางปี 2568 หรืออย่างช้าปลายปี 2568 เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้งานระบบ O&M เข้าดำเนินการ ซึ่งระหว่างนั้น จะพยายามเปิดให้ใช้ฟรีไปก่อน ประมาณ 1 ปี เพื่อให้ประชาชนคุ้นชินกับเส้นทาง ก่อนจะเปิดเต็มรูปแบบมีการเก็บค่าผ่านทางในปลายปี 2569 ซึ่งจะเป็นการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้นโดยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ด้วยระบบ M-Flow


โครงการมีค่าลงทุนระบบ O&M ที่ 1,037 ล้านบาท (ซึ่ง ทล.จะทยอยจ่ายคืนเอกชน) และมีค่าใช้จ่าย O&M ตลอด 30 ปี ที่ 14,687 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 15.16% มีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 6.14% กำหนดอัตราค่าผ่านทาง รถยนต์ 4 ล้อ อัตราแรกเข้า 10 บาท+2 บาท/กม. รถยนต์ 6 ล้อ อัตราแรกเข้า 16 บาท + 3.2 บาท/กม. รถยนต์มากกว่า 6 ล้อ อัตราแรกเข้า 23 บาท+4.6 บาท/กม. คาดการณ์ปริมาณจราจรปีเปิดให้บริการที่ 64,203 คัน/วัน รายได้ ประมาณ 1,272.71 ล้านบาท/ปี มีปริมาณจราจรรวม 30 ปีที่ 1,548 ล้านคัน มีรายได้ค่าผ่านทางรวม 116,954 ล้านบาท


@งานระบบ O&M มอเตอร์เวย์ "บางปะอิน" ช้า 19% สาย "บางใหญ่" ช้า 16%

สำหรับความคืบหน้างานระบบ O&M มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ปัจจุบันงานล่าช้ากว่าแผน 19% ส่วนระบบ O&M สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) งานล่าช้ากว่าแผน 16% เนื่องจากปัญหาเกี่ยวเนื่องจากการก่อสร้างงานโยธา ทำให้การส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเพื่อเข้าก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบล่าช้า

ภาพรวมงานโยธา มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. แบ่งการก่อสร้างเป็น 40 ตอน ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 28 ตอน และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 12 ตอน โดย ณ เดือนกันยายน 2566 โครงการมีความคืบหน้า 92% โดยในปี 2566 จะแล้วเสร็จอีก 2 ตอน ปี 2567 จะแล้วเสร็จอีก 6 ตอน และจะเสร็จตลอดสายทางในเดือนมิถุนายน 2568


กำลังโหลดความคิดเห็น