UNGCNT เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (SDGs Summit 2023) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ชู 3 ประเด็นเร่งเดินหน้า SDGs ในอาเซียน เน้นยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับยุคเศรษฐกิจ 5.0
นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand) กล่าวถ้อยแถลงในงานเสวนาระดับสูงระหว่างการประชุม SDGs Summit 2023 ในหัวข้อ Fostering Partnership for Our Common Future: Enhancing Multi-Stakeholder Partnerships to Accelerate the SDGs in ASEAN ว่าสมาคมฯ รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของไทยและในภูมิภาคอาเซียน
สมาคมฯ เห็นพ้องกับข้อสังเกตจากการประชุม SDGs Summit และเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ต่างเรียกร้องว่า การบรรลุ SDGs ของไทยและประเทศอาเซียนอาจจะยังคืบหน้าไม่รวดเร็วพอ และเห็นด้วยกับข้อริเริ่มของสหประชาชาติที่สนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่ SDGs และ ASEAN Community Vision 2025 ในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่สหประชาชาติ ได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ
โลกในวันนี้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและเผชิญความท้าทายต่อเนื่อง ทั้งการต่อสู้กับสภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถูกยกระดับขึ้นเป็นสีแดง (Code-Red Climate Change) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านสู่โลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสังคมสูงวัย
“จากยุคอุตสาหกรรม 4.0 เรากำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจ. 5.0 ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ผสมผสานกันอย่างใกล้ชิดกันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทุกคนต่างมีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะใช้ชีวิตและบริโภคอย่างยั่งยืน สมดุล” นายศุภชัยกล่าว
นอกจากนี้ สมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความยั่งยืนร่วมกัน อาทิ เมื่อปี ค.ศ. 2020 ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะร่วมลงทุนใน 1,000 โครงการที่มีมูลค่ากว่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามโครงการ UN SDGs Decade of Action และต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 2021 หลังจากทั่วโลกเริ่มตื่นตัวเรื่องเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ “Net Zero”
สมาชิกสมาคมฯ ได้ผนึกพลังร่วมกันตั้งเป้าเพื่อบรรลุ Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือช้าที่สุดไม่เกินปี ค.ศ. 2070 นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้ง Human Right Academy สำหรับภาคธุรกิจเมื่อ 2 ปีก่อน เพื่อส่งเสริมการดูแลสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจไทยที่มีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ไปทั่วภูมิภาคอาเซียน ความพยายามเหล่านี้นับเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้ไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมาย SDGs มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้จากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2566 (Sustainable Development Report 2023) ของ SDGs Sustainable Development Solutions Network (SDSN)
นายศุภชัยฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตสำคัญ 3 ข้อ ที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนสำหรับยุคเศรษฐกิจสังคม 5.0 ได้แก่
1. Transparency through Reporting
นายศุภชัยฯ ได้พยายามรณรงค์การจัดทำรายงานความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนมาโดยตลอด ซึ่งรวมถึงการตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด (Targets and KPIs) โดยสมาคมฯ ได้ร่วมทำงานกับพันธมิตร อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนกว่า 800 บริษัท เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ควบคู่ไปกับผลประกอบการ ทั้งนี้ เพราะการจัดทำรายงานช่วยส่งเสริมการจัดระบบการบริหารจัดการและการเก็บข้อมูลในองค์กรอย่างเปิดเผย (Open Data) อันจะช่วยเรื่องการระดมทุนขององค์กร อีกทั้งยังลดความเสี่ยงของการรายงานการดำเนินการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมขององค์กรเกินความจริง (Green Washing)
2. Balance between Digital Transformation and SDGs
การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกดิจิทัลของประเทศอาเซียนมีความสำคัญยิ่งขึ้นทุกวัน เพราะจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มทักษะความสามารถในการแข่งขันของคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ดี การพัฒนาคุณภาพการศึกษาตาม SDG4 และการต่อต้านคอร์รัปชันผ่าน E-Government ตาม SDG 16 ล้วนต้องอาศัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มากขึ้น เช่น การสร้าง Data Center
ที่จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาลในการดูแลเซิร์ฟเวอร์ โดยเฉลี่ยประมาณ 1,000 กิโลวัตต์ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร เช่นเดียวกับเทคโนโลยี 5G ที่ต้องการสถานีกระจายสัญญาณเพิ่มขึ้น และใช้พลังงานมากกว่าการปล่อยสัญญาณ 4G มากกว่า 2-3 เท่า ดังนั้น การเข้าถึงแหล่งพลังงานที่มีความยั่งยืน กระแสไฟมีความเสถียร ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ จะเป็นความท้าทายของประเทศอาเซียนที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีนี้กับความพยายามบรรลุเป้าหมาย Net Zero
3. Human Capital Development บุคลากรที่จะช่วยพาประเทศอาเซียนสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs
โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจ 5.0 ต้องมี Growth Mindset ที่พร้อมหาโอกาสใหม่ในโลกที่ท้าทาย มีความคิดสร้างสรรค์ และได้รับการศึกษา ที่เน้นการลงมือทำ (Action-Based) ตั้งแต่ในโรงเรียน เพื่อให้สามารถเข้าสู่โลกการทำงานที่วัดผลงานและจ่ายค่าตอบแทนได้อย่างเป็นธรรม ที่สำคัญที่สุด คือการตระหนักรู้ถึงคุณค่า ESG อย่างลึกซึ้งและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
ดังนั้น “เราจึงนิยามทรัพยากรมนุษย์สำหรับยุคใหม่ว่าเป็น Sustainable Intelligence-Based Human Capital กล่าวคือ คนที่มีทักษะจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ภายใต้ยุคเศรษฐกิจและสังคม 5.0 มี Mindset ที่ถูกต้องเพื่อใช้ AI อย่างชาญฉลาด ไม่กลายเป็นผู้ที่จะละเมิดการรายงานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมขององค์กรเกินความเป็นจริง (Green Washers) สามารถเรียก
คนกลุ่มนี้ว่า SI Human Capital” นายศุภชัยฯ กล่าว
ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด นายศุภชัยฯ ได้ตอกย้ำความมุ่งมั่นร่วมผลักดันให้ประเทศไทยและอาเซียนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มุ่งให้ประชาคมโลกเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น เมื่อทุกคนเปลี่ยนวิธีคิดและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง