xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยเบฟ” ปูพรมตลาดอาเซียน เพิ่ม “ฐานผลิต-สินค้า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - “ไทยเบฟ” เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจทั้งกลุ่มต่อเนื่อง ตาม PASSION 2025 เปิด 3 ยุทธศาสตร์หลักขับเคลื่อน พร้อมเร่งขยายฐานผลิต ฐานตลาดต่างประเทศ ปีนี้ทุ่มงบอีก 7,000 ล้านบาทลุยหนัก ผุดฐานผลิตใหม่ที่กัมพูชา 4,000 ล้านบาท ซุ่มความพร้อมขยายฐานในจีน เผยผลประกอบการรวมงวด 9 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 แข็งแกร่ง


การก้าวขึ้นสู่บริษัทระดับท็อปเท็น (TOP 10) ของผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ในเอเชีย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ขณะที่การรักษาตำแหน่งของตัวเองให้อยู่ในท็อปเท็นต่อไปก็ถือเป็นเรื่องยากมากกว่า

ทว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ” หรือ “กลุ่มบริษัทไทยเบฟ”) ซึ่งรวมกับเอฟแอนด์เอ็มด้วย ที่ทุกวันนี้ยืนอยู่ในตำแหน่งผู้ผลิตและมีรายได้ขนาดใหญ่อันดับที่ 9 ของเอเชีย และใหญ่ที่สุดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำสำเร็จมานานระยะหนึ่งแล้ว

ไทยเบฟทำรายได้ปี 2565 ประมาณ 6,171 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีขนาดมาร์เกตแคปเท่ากับ 11.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังท้าทายตัวเองสู่บทใหม่ที่จะขยับตำแหน่งให้สูงขึ้นไปอีก

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มบริษัทไทยเบฟ กล่าวว่า รายังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบและความยั่งยืนเป็นสำคัญ โดยยึดมั่นขับเคลื่อนกลยุทธ์ “สรรค์สร้างการเติบโตที่ยั่งยืน (Enabling Sustainable Growth)” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์”


ด้วยยุทธศาสตร์หลักของการเติบโตตามเป้าหมายปี 2568 คือ

1. การกระจายความเสี่ยงของตลาดด้วยการสร้างความสมดุุลทางธุรกิจ
2. การขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพรีเมียมในพอร์ตโฟลิโอมากขึ้น 
3. การเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่ม

โดยแผนการลงทุนตามปีงบประมาณปีนี้ตั้งประมาณ 7,000 ล้านบาทก็เพื่อการลงทุนสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ, การขยายตลาดใหม่ต่างประเทศ และการขยายฐานการผลิตใหม่ไม่หยุดนิ่ง

ที่ชัดเจนที่สุดในขณะนี้คือ การใช้งบประมาณมากกว่า 3,000 ล้านบาทในการลงทุนในไทย เช่น เรื่องการขนส่งไบโอแก๊ส และด้านความยั่งยืน และอีก 4,000 ล้านบาท งจะลงทุนครั้งใหญ่สร้างโรงงานในกัมพูชา

ยังไม่นับรวมการขยายตลาดเข้าสู่ประเทศจีนเพิ่มอีก จากเดิมที่มีฐานธุรกิจบ้างแล้วในยูนนาน และกวางตุ้ง ซึ่งตลาดจีนนั้นมองว่าใหญ่มาก ต้องมีการเรียนรู้และศึกษาตลาดให้ถ่องแท้อีกมาก

หรือแม้แต่ในเมียนมา ก็เพิ่งได้รับใบอนุญาตการผลิตที่มัณฑะเลย์ แต่ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด
รวมถึงแผนที่ยังเดินหน้า IPO เบียร์โคในเวียดนามต่อไปเพื่อขยายธุรกิจต่อเนื่อง


ทั้งนี้ ไทยเบฟตั้งเป้ารายได้กลุ่มนอนแอลกอฮอล์จะมีสัดส่วนเท่ากัน 50% : 50% กับกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ภายในปี พ.ศ. 2573 จากปัจจุบันที่นอนแอลกอฮอล์ มีสัดส่วนประมาณ 30%

โดยผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มบริษัทไทยเบฟมีรายได้จากการขาย 215,893 ล้านบาท เติบโต 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยทุกกลุ่มมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น จากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) อยู่ที่ 37,765 ล้านบาท ลดลง 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยโดยรวมทั้งในด้านรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาด รวมถึงต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งนี้ ไทยเบฟยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและกระแสเงินสดอิสระที่ดี

“การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการบริโภคในประเทศจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินั้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ไทยเบฟก็ตระหนักดีว่าแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มเชื่อมั่นว่ารากฐานอันมั่นคงจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของไทยเบฟได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของกลุ่มในการเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียน” นายฐาปนกล่าว


*** กลุ่มธุรกิจสุรา
นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา กล่าวว่า ช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 กลุ่มธุรกิจสุรามีรายได้จากการขายเติบโต 3.3% เป็น 93,673 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ปริมาณขายรวมจะลดลง 3.5% จากปีก่อนก็ตาม ธุรกิจสุรามีผลประกอบการที่แข็งแกร่งโดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 23,763 ล้านบาท และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชีต่อรายได้ (EBITDA margin) สูงขึ้นจาก 24.7% เป็น 25.4%

ล่าสุดตลาดต่างประเทศ เราได้ขยายกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมและเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศ ผ่านการเข้าซื้อธุรกิจลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac) และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี (Cardrona Distillery) นับเป็นก้าวแรกของกลุ่มในการเข้าสู่ตลาดคอนญักและตลาดสุราโลกใหม่ (New World Spirits) ซึ่งจะเข้ามาเติมเต็มกลุ่มตราสินค้าสุราของเรา

ในประเทศเมียนมา แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ยังคงรักษาตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งไว้ได้แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายในตลาด โดยเราคาดว่าอุปสงค์ต่อสินค้าและการเติบโตของธุรกิจจะยังคงดีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้


*** กลุ่มธุรกิจเบียร์
นายไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า “ธุรกิจเบียร์ของเราในประเทศไทยมีการฟื้นตัว เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในขณะที่ธุรกิจในเวียดนามยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ธุรกิจเบียร์มีรายได้จากการขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เป็น 93,262 ล้านบาท แม้ว่าปริมาณขายรวมจะลดลงร้อยละ 5.2 ทั้งนี้ การลงทุนในตราสินค้า กิจกรรมทางการตลาด และแรงกดดันด้านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบหลักและบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลงร้อยละ 19.8 เป็น 10,783 ล้านบาท”

*** กลุ่มธุรกิจเบียร์ประเทศไทย
นายทรงวิทย์ ศรีธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อการเติบโตของธุรกิจเบียร์ประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในตลาด ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ Commercial Leadership Winning Brand Portfolio และ Cost Competitiveness เรามุ่งมั่นเสริมแกร่งทางการค้าให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ช้างผ่านกลยุทธ์ “Commercial Leadership” โดยเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคผ่านแคมเปญต่างๆ ที่ต่อยอดมาจากความรักที่ผู้บริโภคมีต่อตราสินค้า การถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน “มิตรภาพ ฟุตบอล และดนตรี” ช่วยเสริมสร้างความใกล้ชิดและการมีส่วนร่วมไปจนถึงจุดขาย โดยเรายังได้ทำงานร่วมกับกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในกลุ่มบริษัทไทยเบฟ เพื่อผนึกกำลังในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายการกระจายสินค้าและช่องทางการจำหน่าย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงตราสินค้าได้

นอกจากนี้ เรายังเดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าผ่านกลยุทธ์ “Winning Brand Portfolio” และพัฒนาสินค้าที่โดดเด่นภายใต้ตราสินค้าช้าง ซึ่งเป็นตราสินค้าหลักของเรา โดยในปี 2562 กลุ่มได้เปิดตัว “ช้าง โคลด์ บรููว์” ซึ่งในปัจจุบันเป็น 1 ใน 5 ตราสินค้าเบียร์ที่มีปริมาณขายสูงสุดในประเทศไทย และเมื่อปลายปี 2565 ได้เปิดตัว “ช้าง อันพาสเจอไรซ์” เบียร์พรีเมียม ซึ่งได้รับผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน “ช้าง เอสเปรสโซ่ ลาเกอร์” ก็ได้รับรางวัลเหรียญทองด้านคุณภาพต่อเนื่องเป็นปีที่สามติดต่อกัน

“เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เราได้ดำเนินกลยุทธ์ “Cost Competitiveness” ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การลดต้นทุนในการผลิตเบียร์ การจัดสรรทรัพยากรในห่วงโซ่อุปทาน การลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขาย และการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตซึ่งส่งผลให้มีอัตรายอดขายต่อจำนวนพนักงาน (Net Sales to Headcount ratio) ที่ดีขึ้น” นายทรงวิทย์กล่าว


*** กลุ่มธุรกิจเบียร์ ประเทศเวียดนาม
นายเลสเตอร์ ตัน เต็ก ชวน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซาเบโก้ กล่าวว่า “เศรษฐกิจของประเทศเวียดนามได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมการส่งออกและการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุ่งมั่นรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม สร้างทีมขายมืออาชีพ และเสริมแกร่งกลุ่มตราสินค้า Winning Brand Portfolio โดยเราได้ดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อยกระดับ Bia Saigon ในฐานะความภาคภูมิใจของเวียดนาม” เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโดยรวม ซาเบโก้มุ่งเน้นการขยายธุรกิจ พัฒนากลุ่มตราสินค้า และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ซาเบโก้เสริมสร้างความเป็นเลิศด้านการผลิตและใช้มาตรการบริหารต้นทุนที่เข้มงวดเพื่อบริหารค่าใช้จ่ายและรักษาผลกำไรของบริษัท อีกทั้งยังมุ่งมั่นเดินหน้าผนวกเครือข่ายโรงเบียร์ของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและการบริหารต้นทุน

ด้วยแผนงาน SABECO 4.0 ซึ่งได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ซาเบโก้มั่นใจอย่างยิ่งว่าบริษัทจะสามารถยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน เสริมแกร่งความเป็นผู้นำในตลาด และบรรลุเป้าหมายระยะยาวของบริษัทได้ในที่สุด


*** ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้จากการขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 15.6% เป็น 14,822 ล้านบาท ซึ่งมาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น8.7% ตามการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 1,773 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ได้ขยายการเติบโต ภายใต้ 3 แนวทาง คือ การสานพลังของแบรนด์ปั้นพอร์ตสุดแกร่ง, การเร่งสปีดการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในทุกมิติ และการเดินหน้าขยายตลาด โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ด้วยแนวทาง “การสานพลังของแบรนด์ปั้นพอร์ตสุดแกร่ง (Brand Portfolio Management)” เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกโอกาสและทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงรองรับกลุ่มผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค ผ่านกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อเสริมแกร่งตราสินค้าหลักของกลุ่ม

นอกจากนี้ ไทยเบฟยังมองเห็นโอกาสในการเติบโตที่ดีในภูมิภาคอาเซียน โดยกลุ่มมุ่งมั่นผลักดันตราสินค้าหลักของกลุ่มสู่ตลาดในภูมิภาคผ่านการดำเนินตามแนวทาง “การเดินหน้าขยายตลาด (Expand to New Market)”

ทั้งนี้ โออิชิกรีนที เติบโต 15% สัดส่วนรายได้ 30% ของพอร์ตโฟลิโอ เครื่องดื่มเอสเติบโต 23% น้ำดื่มคริสตัลเติบโต 19%


*** ธุรกิจอาหาร

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 19.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 14,296 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 อย่างไรก็ตาม กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลง 8.4% เป็น 1,446 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค และต้นทุนค่าแรงงาน ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนการเปิดร้านใหม่
ส่วนการแยกธุรกิจอาหารกับเครื่องดื่มโออิชิออกจากกันเพื่อสร้างความชัดเจนและความคล่องตัวในการลงทุน เพราะธุรกิจอาหารต้องลงทุนมากเพื่อขยายสาขา

“เป็นเรื่องน่ายินดีที่การบริโภคภายในร้านอาหารในประเทศไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีจากการที่ผู้บริโภคชาวไทยกลับมารับประทานอาหารนอกบ้านร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูงกันอีกครั้ง ประกอบกับการกลับมาของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ในขณะนี้การบริโภคภายในร้านเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ดังนั้นเราจึงใช้โอกาสนี้ในการดำเนินกลยุทธ์เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจอาหาร ด้วยการเดินหน้าขยายสาขาใหม่ และเพิ่มการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม” นางนงนุช กล่าว

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอาหารในปีนี้ คือ การเจาะตลาดให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนสาขาร้านอาหารของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงร้านอาหารและผลิตภัณฑ์โปรดได้โดยง่ายในทุกพื้นที่ ปัจจุบันไทยเบฟมีร้านอาหารทั้งหมด 771 ร้านในประเทศไทย โดยเปิดเพิ่มทั้งสิ้น 43 ร้านในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566

ไทยเบฟตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการเติบโตของยอดขายของร้านสาขาเดิมด้วยการรังสรรค์เมนูใหม่และจัดกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลายสำหรับทุกร้านอาหาร เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการบ่อยครั้งขึ้น ในขณะเดียวกัน ไทยเบฟยังมุ่งมั่นเสริมสร้างพื้นฐานของธุรกิจอาหารให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านบุคลากร การดำเนินงาน เทคโนโลยี และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนผ่านการดำเนินโครงการลดขยะอาหารจากร้านในเครือ เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะอาหาร รวมถึงโครงการบริจาคอาหารส่วนเกินเพื่อช่วยเหลือชุมชนต่างๆ อีกด้วย


*** การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ กล่าวว่า ในปี 2565 ไทยเบฟสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้วดังนี้

1. บรรลุเฟสที่ 1 และ 2 ของโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงงานในไทยรวมทั้งสิ้น 23 แห่ง
2. ติดตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ 7 แห่ง สำหรับผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำกากส่า ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นแอลกอฮอล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานในโรงงานแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
3. เพิ่มอัตราการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในองค์กรเป็นร้อยละ 42.8
4. ลดอัตราส่วนการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลงร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับพื้นที่ที่มีการดึงน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้มาก (water-stressed area)
5. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 ลงได้ร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562
6. นำขยะอาหารและของเสียอื่น ๆ จำนวนร้อยละ 67.6 กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น
7. นำบรรจุภัณฑ์สินค้าจำนวนร้อยละ 84 กลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล (Reuse and Recycle)
8. เพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยที่ได้รับเครื่องหมาย “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” เป็นร้อยละ 70

*** กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล
ดร.เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร กล่าวว่า จากผลสำรวจความผูกพันกับองค์กรของพนักงานปี 2566 ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ พบว่า พนักงานมีคะแนนความผูกพันกับองค์กรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 83 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยคะแนนความผูกพันกับองค์กรของพนักงานในประเทศไทยตามการรายงานของ Kincentric ลดลงจากร้อยละ 69 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 65 ในปี 2566 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 สิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จของไทยเบฟ คือ ความเชื่อมั่นใน “ทุนมนุษย์กับโอกาสไร้ขีดจำกัด” ผ่านการมอบโอกาสในอาชีพ สร้างความผูกพัน และมอบโอกาสก้าวหน้าให้กับพนักงานทุกคน
กำลังโหลดความคิดเห็น