xs
xsm
sm
md
lg

“ดุสิตกรุ๊ป” แตกแบรนด์ ขยายตลาดลักชัวรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - กลุ่มดุสิตธานีเดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่อง เปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่ “ดุสิต คอลเลคชั่น” (Dusit Collection) และ “เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์” (Devarana-Dusit Retreats) รองรับตลาดลักชัวรีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เผย “ดุสิต คอลเลคชั่น” จับกลุ่มเจ้าของโรงแรมสแตนด์อะโลน หรืออสังหาริมทรัพย์ระดับลักชัวรี ที่ต้องการรักษาแบรนด์และความเป็นตัวตนของตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่ “เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์” เป็นรูปแบบที่พักที่เน้นเป็นสถานที่ให้บริการฟื้นฟูร่างกายและเยียวยาจิตใจในที่พักหรูหราที่มีความเป็นส่วนตัว ท่ามกลางธรรมชาติอันเงียบสงบทั่วโลก โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการแห่งแรกในจีนประมาณเดือนตุลาคม 2566 ก่อนที่จะเปิดให้บริการอีกหลายแห่งในปีนี้ ครอบคลุมทั้งยุโรป ตะวันออกกลาง และจีน


“กลุ่มดุสิตธานีเดินหน้าขยายธุรกิจโรงแรมอย่างต่อเนื่องกับการเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่ ได้แก่ ดุสิต คอลเลคชั่น (Dusit Collection) และ เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์ (Devarana - Dusit Retreats) เพื่อรองรับตลาดที่พักระดับลักชัวรีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

เป็นคำกล่าวของ มร.จิลล์ เครตัลเลช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)

ถือเป็นการขยายธุรกิจครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของดุสิตธานีในการเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่พร้อมกันทีเดียว หลังจากที่ผ่านสถานการณ์โควิด-19 มาแล้ว

จึงเป็นอีกเกมการขยายตัวที่มีความหมาย เพราะจะทำให้ดุสิตธานีมีตลาดที่กว้างมากขึ้นกว่าเดิม และเป็นโอกาสช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วนเช่นกัน เพราะแต่ละแบรนด์ที่มีอยู่ก็มีการจับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันอยู่แล้ว

โดยที่ทั้ง 2 แบรนด์ใหม่นี้จะเป็นการเพิ่มจำนวนแบรนด์ภายใต้ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และวิลลาหรู ที่มีอยู่เดิมภายใต้กลุ่มดุสิตธานี ซึ่งประกอบด้วย ดุสิตธานี, ดุสิตสวีท, ดุสิตเดวาราณา, ดุสิตดีทู, ดุสิตปริ๊นเซส, อาศัย และอีลิธฮาเวนส์ ให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่มมากขึ้น และยังถือเป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจที่พักให้กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น


สำหรับแบรนด์ “ดุสิต คอลเลคชั่น” ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเจ้าของโรงแรมสแตนด์อัโลนหรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ระดับลักชัวรี ให้สามารถรักษาตัวตน และเสน่ห์ดั้งเดิมของแบรนด์ ในขณะเดียวกัน ก็สามารถเพิ่มศักยภาพในการให้บริการได้อย่างเป็นระบบ จากนักบริหารมืออาชีพที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญในงานบริหารโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก โดยไม่ต้องยุ่งยากในการรีแบรนด์หรือปรับใหม่แต่อย่างใด

คุณสมบัติอันโดดเด่นของโรงแรมภายใต้แบรนด์ดุสิตคอลเลคชั่นคือ ตั้งอยู่ในโลเกชันที่น่าสนใจ ตัวโรงแรมมีความโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมและเรื่องราวที่น่าสนใจ และมีการตกแต่งอย่างลงตัว ผสมผสานเข้ากับเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน ซึ่งที่พักแบบนี้กำลังเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แท้จริง และแตกต่างไม่เหมือนใคร ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์อันน่าจดจำให้แก่นักท่องเที่ยว

“เรามั่นใจว่า “ดุสิต คอลเลคชั่น” จะเป็นโมเดลที่มีประสิทธิภาพและสร้างความคุ้มค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยเจ้าของอสังหาริมทรัพย์จะได้รับการดูแลจากทีมที่แข็งแกร่งและเชี่ยวชาญในการบริหาร ที่มีความเข้าใจตัวตน และรักษาไว้ซึ่งความโดดเด่นของทรัพย์สินที่มีคุณค่า ขณะที่กลุ่มดุสิตธานีจะได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ที่สามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างคล่องตัว เพิ่มความหลากหลายให้กับงานบริการ และยังสามารถสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจบริการของเรา” จิลล์ เครตัลเลช กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้เข้าพักจะได้รับประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ในการค้นหาเรื่องราวที่น่าสนใจจากเมืองปลายทางอันเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ปัจจุบันกลุ่มดุสิตธานีมั่นใจว่ายังมีอสังหาริมทรัพย์สุดหรูอีกมากที่รอการค้นพบ ตั้งแต่พระราชวังเก่าในเมืองแห่งประวัติศาสตร์ จนถึงที่พักริมทะเลอันเงียบสงบ จากทวีปเอเชีย เรื่อยไปจนถึงตะวันออกกลางอันมีเสน่ห์ และครอบคลุมถึงทวีปยุโรป ที่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “ดุสิต คอลเลคชั่น”

ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาตกลงกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายราย และคาดว่าจะสามารถประกาศการลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการได้ในเร็วๆ นี้


ขณะที่อีกแบรนด์น้องใหม่ของกลุ่มดุสิตธานี คือ “เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์” ก็น่าจับตามองไม่น้อย

โดยแบรนด์ “เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์” เป็นการพัฒนาและยกระดับมาจากแบรนด์เดิมที่ชื่อว่า “ดุสิต เดวาราณา” เรียกว่าเป็นการพลิกโฉมแบรนด์หรูที่มีอยู่เดิม เพื่อยกระดับประสบการณ์การเข้าพักที่มีคุณค่าในระดับอัลตราลักชัวรี

ทั้งนี้ จากความสำเร็จของการพัฒนาคอนเซ็ปต์ “เทวารัณย์ เวลเนส” (Devarana Wellness) หรือแนวคิดด้านสุขภาพแบบองค์รวมผสานกับองค์ประกอบของความเป็นอยู่ที่ดีอย่างมีเอกลักษณ์ให้กับโรงแรมและรีสอร์ตในเครือดุสิตทั่วโลก ทีมงานได้มีการต่อยอดและยกระดับการบริการดังกล่าว จนเกิดเป็นแบรนด์ “เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์” มุ่งหวังที่จะยกระดับแนวทางการรักษาสุขภาพแบบองค์รวมนี้ให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการมอบประสบการณ์ของการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจได้อย่างเต็มที่ ในที่พักอันหรูหรา ที่มีความเป็นส่วนตัว เงียบสงบทั่วโลก

แบรนด์เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์ ถูกพัฒนาขึ้นจากหลักการดูแลสุขภาพแบบไทยดั้งเดิม ผสมผสานกับแนวคิดของการท่องเที่ยวเชิงฟื้นฟูอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดเป็นโปรแกรมเชิงสุขภาพแบบครบวงจร ที่คัดสรรมาเป็นพิเศษจากการผสมผสานเอกลักษณ์อันโดดเด่นของธรรมชาติในแต่ละชุมชน เข้ากับหลักการบำบัดแบบโบราณ เพื่อมอบให้กับนักท่องเที่ยว ที่มองหาการฟื้นฟูและเยียวยาร่างกายและจิตใจ ในพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัว อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน เพื่อมอบความประทับใจอย่างสูงสุดแก่ผู้เข้าพัก


“เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์” แห่งแรกมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนตุลาคมนี้ที่ประเทศจีน และกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาตกลงเพื่อลงนามเพื่อสร้าง “เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์” อีกหลายแห่งภายในปีนี้ ทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง และในจีน

ปัจจุบันกลุ่มดุสิตธานีมีโรงแรมอยู่ในพอร์ตโฟลิโอรวมทั้งสิ้น 55 แห่งที่ดำเนินกิจการภายใต้ ดุสิต โฮเท็ล แอนด์ รีสอร์ท และวิลลาระดับลักชัวรีกว่า 230 หลังภายใต้
อีลิธฮาเวนส์ ใน 19 ประเทศ ยังมีโรงแรมและรีสอร์ตในกลุ่มดุสิตธานีที่พร้อมจะเปิดมากกว่า60 แห่งทั่วโลก และมีเป้าหมายการลงนามเพิ่มเติมอีก 22 แห่งในปีนี้

“การเปิดตัวแบรนด์ “ดุสิต คอลเลคชั่น” และ “เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์” ในช่วงเวลานี้สะท้อนถึงความสำคัญของการปรับปรุงพอร์ตโฟลิโอของแบรนด์ที่บริหารภายใต้กลุ่มดุสิตธานีเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และสะท้อนความพร้อมในการขยายธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ” จิลล์ เครตัลเลช กล่าว

พร้อมกับย้ำด้วยว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเราได้ทยอยปรับปรุงแบรนด์แต่ละตัวอย่างพิถีพิถันเพื่อมอบความสะดวกสบาย ประสบการณ์ และความคุ้มค่าให้กับผู้เข้าพัก การเพิ่มขึ้นของแบรนด์น้องใหม่ทั้งสองแบรนด์นับเป็นการขยายการรูปแบบการให้บริการที่พักให้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคในทุกกลุ่ม
ตั้งแต่ไลฟ์สไตล์บูติก ไปจนถึงการดูแลสุขภาพองค์รวมระดับลักชัวรี ซึ่งทุกแบรนด์ได้รับแรงบันดาลใจจากความเป็นไทย และการต้อนรับแบบไทยอย่างอบอุ่น
ซึ่งถือเป็นการต่อยอดสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ของกลุ่มดุสิตธานี


สำหรับแผนดำเนินงานปี 2566 กลุ่มดุสิตธานีวางแผนที่จะขยายธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตเพิ่มขึ้นอีก 14 แห่ง รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,700 ห้อง ใน 7 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งในเอเชียและยุโรป รวมถึงประเทศไทย ซึ่งจะทำให้พอร์ตโฟลิโอทั่วโลกของกลุ่มดุสิตในปีนี้มีโรงแรมรวมกันทั้งหมด 62 แห่ง หรือประมาณ 13,700 ห้อง ใน 17 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งยังมีอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 60 แห่งที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการภายใน 3-4 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันกลุ่มดุสิตธานีดำเนินกิจการครอบคลุม 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจอาหาร ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการต้อนรับ ธุรกิจหลักของกลุ่มได้แก่ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ตและวิลลาหรู ภายใต้ 8 แบรนด์ ได้แก่ ดุสิตธานี, ดุสิตเดวาราณา, ดุสิตดีทู, ดุสิตปริ๊นเซส, อาศัย, ดุสิต คอลเลคชั่น และ เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์ และอีลิธ เฮเวนส์ ในจุดหมายปลายทางชั้นนำกว่า 300 แห่งใน 19 ประเทศทั่วโลก

ส่วนธุรกิจการศึกษา ประกอบด้วย โรงเรียนสอนประกอบการทำอาหารและวิทยาลัยการโรงแรมในประเทศไทย อีกทั้งยังมีบริษัทแคเทอริ่งที่บริการอาหารให้กับโรงเรียนนานาชาติชั้นนำในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหาร ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจให้บริการอื่นๆ เป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่บริษัทเพิ่งเริ่มกระจายการลงทุนไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตามแผนกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ที่ประกอบด้วย 3 ด้านได้แก่ การสร้างความสมดุล การเติบโต และการกระจายความเสี่ยง

สำหรับผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2566 กลุ่มดุสิตธานีมีรายได้จากธุรกิจโรงแรม 1,192 ล้านบาท เติบโต 88% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีรายได้ 634 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ 8.63 ล้านบาท จากการประกอบธุรกิจหลัก 11 ล้านบาท จากเดิมที่ขาดทุน 126 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2565 แต่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสสี่ของปี 2565 ที่ต้องขาดทุน 107 ล้านบาท

ส่วนผลประกอบการของดุสิตธานี ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 รายได้จากธุรกิจโรงแรมเติบโต 31.5% จากรายได้เฉลี่ยต่อห้องที่เพิ่มขึ้น 24.9% ส่วนธุรกิจอาหาร รายได้เติบโต 65.7%


กำลังโหลดความคิดเห็น