ผู้จัดการรายวัน360 – “ไทยเบฟ” เดินหน้าตลาดต่างประเทศเต็มที่ สร้างความแข็งแกร่ง ทุ่มงบ 7, 000 ล้านบาท ลุยกัมพูชามากถึง 4,000ล้านบาท ผุดฐานการผลิตเครื่องดื่ม พร้อมขยับเข้าจีนเพื่อศึกษาเรียนรู้ ด้านเมียนมาร์ได้ใบอนุญาติผลิตเพิ่มอีกใบอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุน
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ” หรือ “กลุ่มบริษัทไทยเบฟ”) เปิดเผยว่า บริษัทจะขยายธุรกิจเครื่องดื่มในต่างประเทศมากขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด มีแผนที่จะขยายเข้าไปในตลาดจีนและกัมพูชาให้มากขึ้น
โดยในจีนแต่เดิมก่อนหน้านี้มีธุรกิจอยู่แล้ว โดยเป็นการร่วมทุนกับทุนท้องถิ่นที่ยูนนาน ที่เน้นตลาดสุราพรีเมียม และที่กวางตุ้งมีดิสทริบิวเตอร์ และมีแผนจะขยายตลาดอื่นเพิ่มอีก ซึ่งการที่เริ่มเข้าไปตลาดจีนนั้นก็เพื่อที่ต้องการจะเรียนรู้ต่างๆทั้งระบบการทำงาน การผลิต การตลาด การขนส่ง โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีและเรื่องของเอไอ(AI) ที่ไม่แพ้ประเทศจากตะวันตก เนื่องจากจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก การทำตลาดแต่ละมณฑล แต่ละเมืองก็แตกต่างกัน และการแข่งขันก็สูงเช่นกัน
ส่วนตลาดกัมพูชา มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนสร้างฐานการผลิตเช่นกัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มในเครือแล้วหลายแบรนด์ และมีหลายแบรนด์ที่สามารถก้าวสู่ผู้นำตลาดเช่นกัน ซึ่งกัมพูชาเป็นประเทศในตลาดกลยุทธ์ของไทยเบฟ ทั้งนี้งบลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาทในปีหน้าที่ตั้งไว้ มองว่าจะใช้งบลงทุนที่กัมพูชามากกว่า 4,000 ล้านบาท
ในตลาดกัมพูชา ไทยเบฟมีดิสทริบิวเตอร์ จำนวน 1 ราย ทางเอฟแอนด์เอ็มมีดิสทริวบิวเตอร์ จำนวน 2 ราย
ขณะที่ตลาดเมียนมาร์นั้น แต่เดิมก็มีกลุ่มเอฟแอนด์เอ็มไปลงทุนแล้วในการสร้างฐานการผลิตที่ย่างกุ้ง ซึ่งทางกลุ่มไทยเบฟก็ถือหุ้นในเอฟแอนด์เอ็มอยู่แล้ว ล่าสุดได้รับใบอนุญาตเพ่ิมอีกที่มัณฑะเลย์ อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด อย่างไรก็ตามการสร้างโรงงานในเมียนมาร์นั้นค่อนข้างละเอียดอ่อนเพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ทั้งอัตราการเปลี่ยน การหาผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีความสามารถในการสร้างโรงงานก็ลำบาก เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ถ้าใครทำได้ก่อนก็จะมีความได้เปรียบมาก
“การเปิดตลาดสู่อาเซียน ไม่ว่าเราจะเดินเข้าหาเขา หรือเขาจะมาลงทุนในฝั่งเรา ก็มีความเป็นไปได้ อยู่ที่ความเหมาะสม เราเองก็มีการคุยกับญีุ่่ปุ่น อเมริกา เหมือนกันที่เขาสนใจตลาดอาเซียน มีการพูดคุยกันบ้างในตลาดอาเซียน ทุกคนล้วนเห็นโอกาส อย่าไปมองว่าใครจะมาแข่งกับใคร ใครจะมาควบรวมกับใคร อยู่ที่่ว่าเราจะร่วมมือกับใคร อีก 2 ปี จะเห็นชัดว่า ใครอยู่ใครไป ใครอ่อนแอ ใครแข็งแรง ได้ไปต่อ ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการทำธุรกิจ ตัดเชือกกันอีกก็ปี 2568” นายฐาปน กล่าว
ส่วนอีก 3, 000 ล้านบาท จะลงทุนในไทย ในเรื่องการขนส่ง ไบโอแก๊ส และด้านความยั่งยืน
ในส่วนของกลุ่มสุรา ทางไทยเบฟ ไม่นานนี้เราได้เดินหน้าขยายกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมและเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศ ผ่านการเข้าซื้อธุรกิจลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac) และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี่ (Cardrona Distillery) โดยการเข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของกลุ่มในการเข้าสู่ตลาดคอนญักและตลาดสุราโลกใหม่ (New World Spirits) ซึ่งจะเข้ามาเติมเต็มกลุ่มตราสินค้าสุราที่เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จอย่างมากของเรา
สำหรับผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มบริษัทไทยเบฟมีรายได้จากการขาย 215,893 ล้านบาท เติบโต 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) อยู่ที่ 37,765 ล้านบาท ลดลง3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลจากปัจจัยโดยรวมทั้งในด้านรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาด รวมถึงต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งนี้ ไทยเบฟยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและกระแสเงินสดอิสระที่ดี
“อย่างไรก็ตาม ไทยเบฟก็ตระหนักดีว่าแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มเชื่อมั่ว่านรากฐานอันมั่นคงจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของไทยเบฟได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของกลุ่มในการเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียน” นายฐาปน กล่าว