xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.เผย MPI เดือน ส.ค.หดตัว 7.53% รอลุ้นนโยบายลดค่าพลังงาน-เงินดิจิทัลฟื้น ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 91.85 ลดลง 7.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักยังคงมาจากส่งออกภาพรวมที่ลดลงจาก ศก.โลกชะลอตัว แรงซื้อในไทยยังคงอ่อนแอจากหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น รอลุ้นนโยบายรัฐบาล "เศรษฐา" เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 91.85 ลดลง 7.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ MPI 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 94.67 ลดลง 4.65% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน ส.ค.อยู่ที่ 58.18% ซึ่งใกล้เคียงกับเดือน ก.ค. 66 และ 8 เดือนแรกปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 60.09% โดยปัจจัยที่ MPI ยังคงมีทิศทางหดตัวมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลต่อกําลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ทำให้การส่งออกของไทยภาพรวมยังคงติดลบ ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้าจากแรงซื้อที่อ่อนแอจากปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ระดับสูง รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

“แรงซื้อที่ยังคงเปราะบางทั้งจากเศรษฐกิจโลกชะลอ ของไทยเองก็ทั้งจากหนี้ครัวเรือน และสภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์เอลนีโญมีผลต่อภาคการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรลดลง กดดันกําลังซื้อซึ่งทั้งครัวเรือนและภาคเกษตรถือเป็นส่วนใหญ่ของกำลังซื้อ แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกคือการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนการบริโภคในประเทศ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง โดยเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 0.88% แต่ก็ยังช่วยลดผลกระทบได้ไม่มากนัก” นางวรวรรณกล่าว

ส่วนการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนกันยายน 2566 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง” จากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของไทยหดตัวมากขึ้นจากการหดตัวของการจําหน่ายวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ ด้านดัชนีปริมาณสินค้านําเข้าของไทยมีโอกาสฟื้นตัวระยะสั้น จากการนําเข้าก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ขณะที่ดัชนีภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้าชะลอตัวจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออกไทย อีกทั้งผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ


นางวรวรรณกล่าวว่า “สำหรับประเด็นที่น่าติดตามในช่วงนี้ ได้แก่ นโยบายของรัฐบาลใหม่ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) การแก้ปัญหาหนี้สิน การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน การผลักดันสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น โดยจะเกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศพร้อมกัน คาดว่าจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจจากกําลังซื้อของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นทั่วทุกพื้นที่ ส่งผลโดยรวมต่อภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมให้มีการขยายการลงทุนและการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น

“การลดค่าพลังงาน เช่น ค่าไฟ ดีเซล ที่ทำแล้วนั้นคงจะต้องดูผลในเดือน ส.ค.อีกครั้ง แต่ส่วนของเงินดิจิทัลน่าจะไปมีผลต่อ MPI ในต้นปี 2567 แต่ก็ถือว่าจะช่วยในเรื่องความเชื่อมั่นมากขึ้นในระยะนี้ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐ คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนพลังงานสูง หรือมีการใช้ไฟฟ้าจํานวนมาก เช่น กลุ่มเหล็กและโลหะพื้นฐาน กลุ่มพลาสติก กลุ่มรถจักรยานยนต์ รถปิกอัพ และยางล้อ เป็นต้น” นางวรวรรณกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น