นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 ก.ย.) ที่ระดับ 35.74 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.76 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.50-35.80 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.66-35.82 บาทต่อดอลลาร์) ผันผวนไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมเกี่ยวกับทองคำ ซึ่งเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 35.66 บาทต่อดอลลาร์ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาตามคาด ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาบ้าง อย่างไรก็ดี มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลว่า หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่องอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้า (ดังจะเห็นได้จากการที่อัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุดปรับตัวขึ้น ส่วนใหญ่มาจากผลของราคาพลังงาน) และเปิดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงไตรมาส 4 ได้ ทำให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ส่วนราคาทองคำย่อตัวลง กดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงกลับมาใกล้ระดับก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เพราะแม้ว่าเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideway หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาไม่ต่างจากคาดมาก แต่ในวันนี้เงินดอลลาร์มีโอกาสได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าเพิ่มเติม หากผลการประชุม ECB (รับรู้ในช่วง 19.15 น. ตามเวลาในประเทศไทย และประธาน ECB จะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในช่วง 19.45 น.) ชี้ว่า ECB มีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้ ECB เลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้เพื่อรอประเมินสถานการณ์ไปก่อน (สวนทางกับที่เราคาดการณ์ไว้ว่า ECB ยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อได้) โดยภาพดังกล่าวจะยิ่งกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ดี หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้สะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะยอดค้าปลีก (ซึ่งได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของยอดใช้จ่ายด้านพลังงาน ตามการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงาน) ที่หากชะลอลงแย่กว่าคาด อาจสะท้อนภาพการใช้จ่ายของชาวอเมริกันที่ไม่สดใสและอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า เฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว โดยในกรณีนี้เงินดอลลาร์มีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง
ทั้งนี้ เราประเมินว่าแม้เงินบาทอาจมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่บ้าง แต่การอ่อนค่าอาจจำกัดอยู่ในช่วง 35.80-35.85 บาทต่อดอลลาร์ ยกเว้นว่า เงินดอลลาร์จะได้ปัจจัยหนุนที่ชัดเจนและแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY ปรับตัวขึ้นทะลุ 105 จุด ชัดเจน) ในกรณีดังกล่าว เรามองว่ามีโอกาสที่จะเห็นเงินบาททดสอบโซนแนวต้าน 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนค่าสุดที่เราเคยประเมินไว้ในวันที่ 28 มิถุนายน ส่วนโซนแนวรับเรามองว่า 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ อาจยังเป็นแนวรับแรกของเงินบาทในระยะสั้นนี้
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุดจะออกมาไม่ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์มากนัก (CPI +3.7%y/y, Core CPI +4.3%y/y_ ทว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อทิศทางนโยบายการเงินเฟด ท่ามกลางแนวโน้มการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้าและเปิดโอกาสให้เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก สะท้อนผ่านการเคลื่อนไหว sideway ของดัชนี S&P500 ก่อนที่จะปิดตลาดราว +0.12%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.32% กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของยูโรโซน อย่าง ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ที่หดตัวลงต่อเนื่อง แย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง
ในฝั่งตลาดบอนด์ การเคลื่อนไหวของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่พลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 4.25% หลังปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้าน 4.32% อาจสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเริ่มมองว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องได้ และเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ นอกจากนี้ การปรับตัวลงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจได้แรงหนุนจากการปิดสถานะ Short เพื่อทำกำไรของผู้เล่นบางส่วนเช่นกัน ทั้งนี้ เรามองว่า รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุดจะทำให้เราสบายใจมากขึ้นว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ทว่า เรามองว่า สัปดาห์นี้ยังคงมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม ทั้งยอดค้าปลีก (Retail Sales) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (จับตาคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว) ทำให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway และหากบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะกลับมาปรับตัวลดลงได้ชัดเจน อาจต้องรอลุ้น Dot Plot ใหม่ของเฟดในการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แกว่งตัว sideway โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะอ่อนค่าลงบ้างในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่ออกมาไม่ได้ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์มากนัก อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ท่ามกลางแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบที่อาจกระทบต่อแนวโน้มการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้เงินดอลลาร์รีบาวนด์กลับขึ้นมาได้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.7 จุด (กรอบ 104.5-104.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) อาจพอได้แรงหนุนบ้างในช่วงที่บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ย่อตัวลง แต่ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลว่าเฟดอาจมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้นั้นยังคงกดดันให้ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,932 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ ควรจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างใกล้ชิด หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดโอกาสการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ตามภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยูโรโซน อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) +25bps สู่ระดับ 4.00% หลังอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้ชะลอตัวลงมากอย่างที่ ECB ประเมินไว้ อนึ่ง ภาพเศรษฐกิจยูโรโซนที่ชะลอตัวลงมากขึ้น (สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่ต่ำกว่า 50 จุด ติดต่อกันหลายเดือน) อาจทำให้ ECB จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาคาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ของ ECB เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินในอนาคต โดยหาก ECB แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น กังวลต่อความเสี่ยงการเกิด Stagflation อาจยิ่งกดดันบรรยากาศตลาดการเงินในฝั่งยุโรปและค่าเงินยูโร (EUR)
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ทั้งรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และยอดค้าปลีก (Retail Sales) โดยในส่วนของยอดค้าปลีกนั้น นักวิเคราะห์ต่างมองว่า แนวโน้มการบริโภคในฝั่งสหรัฐฯ มีทิศทางชะลอตัวลงมากขึ้น สะท้อนผ่านยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมที่จะขยายตัวเพียง +0.1%m/m จาก +0.7% ในเดือนก่อนหน้า (เรามองว่าการใช้จ่ายในฝั่งสหรัฐฯ อาจชะลอตัวมากขึ้น หลังชาวอเมริกันราว 20% ต้องกลับมาจ่ายหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในเดือนตุลาคมนี้)
ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนสิงหาคมอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.5 จุด จากระดับ 55.6 จุด ในเดือนก่อนหน้า หลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้เสร็จสิ้นลง ช่วยลดความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศและสร้างความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันอาจยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยและค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง