การตลาด - พีพี กรุ๊ป (PP GROUP) เร่งขยายพอร์ตโฟลิโอ เร่งคว้าแบรนด์ดังเสริมพอร์ต ขยายทุกเซกเมนต์ เดินหน้าทำการตลาดเชิงรุก งัดกลยุทธ์ลุยดันยอดรายได้เพิ่ม 2 เท่าสู่ 4 พันล้านบาทในอีก 3 ปี
การเดินทางของพีพีกรุ๊ป ที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2546 กับการเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมจากต่างประเทศ ซึ่งแบรนด์แรกๆ ก็คือ EMILIO PUCCI, Christian Lacroix
กระทั่งถึงปีนี้ผ่านการก้าวย่างมาครบ 20 ปีของการทำธุรกิจ กับการปั้นแบรนด์เนมในไทยและถือลิขสิทธิ์อินเตอร์แบรนด์มากมายไม่ต่ำกว่า 11 แบรนด์ในวันนี้
ทว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ถือเป็นช่วงที่สวมบทรุกอย่างเต็มตัว แม้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจะเป็นสถานการณ์ที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนักก็ตาม มีการพัฒนาทางธุรกิจอย่างก้าวกระโดด ซึ่งแม้แต่ภายใต้สถานการณ์โควิด ยอดขายของบริษัทฯ ยังมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 45% โดยในปีนี้ (2566) คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างยอดขายรวมได้มากถึง 2,000 ล้านบาท
ที่สำคัญ พีพี กรุ๊ป ยังตั้งเป้าหมายแบบก้าวกระโดดด้วยว่า ภายในอีก 3 ปีจากนี้รายได้รวมต้องเติบโตเป็นสองเท่า หรือขยายธุรกิจให้แตะ 4,000 ล้านบาท
“พีพี กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2003 และได้รับความไว้วางใจจากธุรกิจกลุ่มสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ให้เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการในการจัดจำหน่าย ดำเนินธุรกิจ และดูแลภาพลักษณ์ของแบรนด์ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และด้วยประสบการณ์การบริหารแบรนด์แฟชั่นลักชัวรีชั้นนำจากทั่วโลก เราจึงมองเห็นโอกาสที่จะต่อยอดธุรกิจให้เติบโตจากเทรนด์อุตสาหกรรมแฟชั่น” นางสาวสุวดี พึ่งบุญพระ ประธานกรรมการ พีพี กรุ๊ป กล่าว
ขณะที่ นายโอฬาร ปุ้ยพันธวงศ์ รองประธานกรรมการ พีพี กรุ๊ป กล่าวว่า ภาพรวมตลาดแฟชั่นรีเทลในประเทศไทยมีมูลค่ารวมเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มลักชัวรี ทำให้ยอดขายของแบรนด์ที่บริหารโดยกลุ่มพีพี กรุ๊ป สามารถทำยอดขายได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก หรือของภูมิภาคมาโดยตลอด หรือติดท็อปไฟว์มาแล้ว
เช่นกรณีของแบรนด์ Longchamp (ลองฌอมป์) ที่พีพี กรุ๊ป ได้รับสิทธิ์ในการเป็นผู้จัดจำหน่ายในไทยในรูปแบบค้าปลีกแต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถือเป็นแบรนด์หรูที่ทำยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก แม้ว่าในปีที่แล้วที่การเดินทางท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มรูปแบบในหลายประเทศ แต่ ลองฌองป์ ก็ทำการปรับกลยุทธ์การตลาด ด้วยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแบบออมนิแชนเนล ( omni-channel) หรือการผสมผสานช่องทางจำหน่ายแบบออนไลน์และแบบหน้าร้านเข้าด้วยกัน ทำให้แบรนด์เติบโตมากกว่า 68% ในไทย และเติบโต 47% ทั่วโลก และเมื่อต้นปี พีพี กรุ๊ป ก็เพิ่งเปิดบูติกคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ไอคอนสยาม ซึ่งเป็นการตอบรับกลยุทธ์การตลาดระดับโลกของลองฌอมป์ ในการแปลงโฉมลองฌอมป์บูติกให้มีคอนเซ็ปต์เดียวกันทั่วโลก เพื่อบอกเล่าเรื่องราวอันเป็นมรดกในการออกแบบและความเชี่ยวชาญด้านเครื่องหนังของแบรนด์จากปารีส บูติกคอนเซ็ปต์ใหม่แห่งแรกในประเทศไทยที่ไอคอนสยาม มีพื้นที่ 124 ตารางเมตร ออกแบบในสไตล์ปารีเซียงในบรรยากาศของอพาร์ตเมนต์ส่วนตัวสุดหรูใจกลางกรุงปารีส
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของ พีพี กรุ๊ป “ปีนี้เรายังคงเดินหน้าในการเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์ชั้นนำที่เป็นที่ต้องการและเป็นกระแสในวงการแฟชั่นระดับโลกให้กับตลาดไทยอย่างต่อเนื่อง และมีทิศทางทางธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการยกระดับ Retail Experience สร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เพื่อดึงดูดให้ผู้คนและกลุ่มเป้าหมายได้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์กับแบรนด์เทียบเท่ากับการไปซื้อของในร้านหรือชอปใหญ่ๆ ในโลก” นางสาวสุวดีกล่าวถึงทิศทางบริษัท
ปีนี้ พีพีกรุ๊ปลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท เรียกได้ว่ามากที่สุดเท่าที่เคยทำมาก็ว่าได้ เพื่อเพิ่มจุดขายในทุกพื้นที่ในจุดยุทธศาสตร์จากเดิม 2,254 ตารางเมตร (20 ร้านค้า) เป็น 4,342 ตารางเมตร (40 ร้านค้า) ภายในสิ้นปีนี้
รวมทั้งการขยายแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มในพอร์ตโฟลิโออีก ล่าสุดปีนี้ได้สิทธิ์แบรนด์ ไลฟ์สไตล์ดังอย่าง เจนทัล มอนสเตอร์ (Gentle Monster) ร้านแว่นตาดังจากเกาหลี อีกแบรนด์ที่เปิดตัวก่อนคือ AMI เป็นดีไซเนอร์แบรนด์ครั้งแรกที่ทำตลาด ส่วนปีที่แล้วก็เพิ่งคว้าสิทธิ์เคสติฟาย (CASETIFY) อันเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่กระแสแรงต่อเนื่อง ปกติแล้ว พีพี กรุ๊ป จะเพิ่มแบรนด์ใหม่เฉลี่ย 1-2 แบรนด์ต่อปี ไม่มากไม่น้อย
“หลังจากสถานการณ์โควิดซาลง ตลาดรีเทลแบนรด์เนมในไทยเติบโตกันหมดทุกแบรนด์ คนไทยหันมาซื้อแบรนด์เนมในประเทศไทยมากขึ้น เพราะช่วงนั้นเดินทางไปต่างประเทศไม่ได้เพราะเป็นช่วงของการปิดประเทศต่างๆ ไทยเราเป็นแฟชั่นแคปปิตอลของเซาท์อีสต์เอเชีย เขามองเราเติบโตดีตลาดดี เหมือนที่เรามองพวกตลาดญี่ปุ่น มองตลาดเกาหลี แบรนด์เนมเหล่านี้ใช้ไทยเป็นสถานที่โชว์เคสที่สำคัญ ยิ่งหลังโควิด กำลังซื้อทั้งของคนไทยเองกับของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทะลักเข้ามาเที่ยวไทยก็ไม่แพ้กันเลย” นายโอฬารย้ำ
อย่างไรก็ตาม การก้าวไปสู่ยอดขาย 4,000 ล้านบาทในอีก 3 ปีไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ไม่ยากเกินไป เพราะการทำธุรกิจเชิงรุกที่วางไว้นั่นเอง ด้วยการขยายโครงสร้างธุรกิจให้มีความหลากหลาย เพื่อรองรับรูปแบบธุรกิจของแฟชั่นลักชัวรีที่เปลี่ยนไป กับ 4 กลยุทธ์หลัก คือ
1. Fashion Distributor การเป็นผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่น
2. International Business Joint Venture การร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ เช่นแบรนด์ Gentle Monster,
3. Retail Operation Service เป็นผู้ให้บริการด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยใช้ความเชี่ยวชาญและความเข้าใจในตลาดไทยของ พีพี กรุ๊ป ตลอด 20 ปีที่ผ่านสร้างความเชื่อมั่น
4. Marketing & Brand Building Consultancy ให้บริการเป็นที่ปรึกษาในการทำ Brand Building ในเมืองไทยด้วยคอนเนกชันที่แข็งแรงทั้งสื่อและเซเลบริตี
แต่ละกลยุทธ์หลักมีแนวทางดังนี้
1. การเป็นผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่น อินเตอร์แบรนด์ทั้งแฟชั่น เสื้อผ้า สินค้าไลฟ์สไตล์ อาหารและเครื่องดื่ม
ปัจจุบัน พีพี กร๊ปุ มี 11 แบรนด์ในมือแล้ว ทั้งแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ และเอฟแอนด์บีที่เพิ่งเริ่มทำ โดยเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแบรนด์ชั้นนำ ได้แก่ Tory Burch (ทอรี่ เบิร์ช), Givenchy (จีวองชี่), Longchamp (ลองฌอมป์), Roger Vivier (โรเฌร์ วิวิเยร์), MCM (เอ็มซีเอ็ม), Off-White™ (ออฟไวท์), Maison Kitsuné (เมซง คิทสึเนะ), Palm Angels (ปาล์ม แองเจิลส์), Casetify (เคสทิฟาย) และล่าสุดแบรนด์ Gentle Monster (เจนเทิล มอนสเตอร์)
โดยสินค้าที่ทำรายได้หลักมาจาก 3 แบรนด์หรู คือ ลองฌอมป์ ทอรี่เบิร์ช และเอ็มซีเอ็ม รวมกันสัดส่วนมากกว่า 55% โดยมีกลุ่มลูกค้าคนไทย 65-70%
ยังมีอินเตอร์แบรนด์บางรายที่เจรจาอยู่กับพีพีกรุ๊ป เพื่อให้ขยายสิทธิ์ในการทำตลาดประเทศอื่นด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ยังไม่มีข้อสรุป เพราะต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดก่อนที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ
อีกทางหนึ่งที่พีพีกรุ๊ปมองเห็นโอกาสและเริ่มทำคือ การมองไปที่ดีไซเนอร์แบรนด์ซึ่งเป็นแนวทางที่เกิดจาก การสร้างแบรนด์จากตัวดีไซเนอร์เอง โดยโครงการแรกคือ AMI จากฝรั่งเศส โดยเตรียมนำแบรนด์ AMI (อาร์มี่) แบรนด์ดังจากฝรั่งเศสมาเปิดร้านแรกที่ไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะสามารถเปิดได้ในช่วงต้นปี 2567 แบรนด์นี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่นที่ ญี่ปุ่น ที่เกาหลี มีสินค้าครบไลน์ทั้ง เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า
2. การร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ เช่นแบรนด์ Gentle Monster ซึ่งเป็นแบรนด์แรกที่มีการร่วมทุนกับทางเจ้าของแบรนด์ในการทำตลาดในไทย ซึ่งมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ทางเจ้าของแบรนด์ร่วมทุนคือที่ดูไบ ฮ่องกง และไทย นอกจากนั้นประเทศอื่นเป็นการทำธุรกิจทางตรงเลย จะเปิดแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในเมืองไทยที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ โดยได้กระแสการตอบรับที่ดีมากจนสินค้ารุ่นลิมิเต็ดจำหน่ายหมดภายในวันแรกที่เปิดตัว
กลยุทธ์การร่วมทุนนี้จะทำให้เราเติบโตได้เร็วมากขึ้น มีการถ่ายทอดโนว์ฮาวกันง่ายขึ้น ที่สำคัญ เป็นการปูพื้นฐานธุรกิจที่สร้างสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้น
หลังจากที่ได้มีการติดต่อและเจรจรไม่น้อยกว่า 5 ปี มีการรอทำเลที่ดีๆ ในศูนย์การค้า ทางเจ้าของเจนเทิล มอนสเตอร์นี้ยังมีธุรกิจในเครืออีกมากมายหลายแบรนด์ ทั้งแฟชั่นแบรนด์ คอสเมติกแบรนด์ และเอฟแอนด์บีอีกด้วย ซึ่งพีพีกรุ๊ปก็อยู่ระหว่างที่จะขยายเอฟแอนด์บีด้วยเช่นกัน หลังจากที่เริ่มต้นกับแบรนด์ คิทสึเนะแล้ว 2 สาขา ที่เอ็มควอเธียร์ และที่โครงการเวลา
นายโอฬารกล่าวว่า ด้วยความพร้อมของตลาดและกำลังซื้อของลูกค้า บริษัทคิดว่า เมืองไทยพร้อมรองรับการเติบโตของแบรนด์ใหม่ๆ และภายในต้นปี 2567 ยังมีแผนที่จะขยายตลาดในกลุ่มเซกเมนต์ใหม่ โดยโฟกัสในการนำเข้าแบรนด์ใหม่มาแรงเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจแฟชั่นรีเทลในเมืองไทย
3. การเป็นผู้ให้บริการด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ
เนื่องจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญนานมากกว่า 20 ปีจากอินเตอร์แบรนด์ทั้งหลาย ทำให้บริษัทเป็นที่ยอมรับของคนในวงการอย่างมาก เมื่อบริษัทมีความเชี่ยวชาญ มีเครดิตทางธุรกิจที่ดีในสายตาอินเตอร์แบรนด์ มีเครือข่ายทางการตลาด มีทีมงานพร้อม ทำให้อินเตอร์แบรนด์มากมายที่สนใจจะเข้ามาทำตลาดในไทย แต่ไม่มีข้อมูล และไม่มีความรู้ในตลาดไทย ตรงนี้ทำให้พีพีกรุ๊ป หันมาขยายการบริการตรงนี้ เพื่อรับเป็นที่ปรึกษาทางการตลาดให้กับแบรนด์ที่จะเข้ามาทำตลาดในไทย
4. การให้บริการเป็นที่ปรึกษาในการทำ Brand Building ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า พีพี กรุ๊ปปลุกปั้นแบรนด์ต่างๆ ในไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก นอกจากฝีมือ เงินทุน ช่องทาง กลยุทธ์การตลาดแล้ว ส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้อินฟลูเอนเซอร์ การใช้เคโอแอล ในการช่วยทำตลาดด้วยเช่นกัน ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยที่จะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ตรงนี้คือสิ่งที่ทางพีพีจะนำมาต่อยอดการบริการในการทำธุรกิจด้วย
"ในปัจจุบัน พีพี กรุ๊ป มีกลยุทธ์ที่แตกต่างจากคู่แข่ง คือมีแบรนด์ที่หลากหลายทั้งแบรนด์ในกลุ่มแฟชั่น, กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มไลฟ์สไตล์ และยังมีช่องทางการจัดจำหน่ายของตัวเอง อีกทั้งความหลากหลายของแบรนด์และช่วงราคาทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในวงกว้าง" นายโอฬารระบุ
พร้อมกับย้ำว่า "เรามีทิศทางทางธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการยกระดับ Retail Experience สร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เพื่อดึงดูดให้ผู้คนและกลุ่มเป้าหมายได้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์กับแบรนด์เทียบเท่ากับการไปซื้อของในร้านหรือชอปใหญ่ๆ ในโลก"
บริษัทวางกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและตอบสนองความต้องการในการเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคในทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดเป็นประสบการณ์การชอปปิ้งไร้รอยต่ออย่างแท้จริง และมีกลยุทธ์ในการเพิ่มพื้นที่และจุดขายเพื่อตอบรับความต้องการและแนวโน้มของตลาดในปี 2566 ทั้งในส่วนของ Permanent Store และ Pop-Up Store ภายในปีเดียว และยังเน้นการให้บริการด้าน OMNI Channel เช่นที่เปิดโอกาสให้ลูกค้า Casetify สามารถออกแบบสินค้าทั้งที่ร้านหรือผ่านออนไลน์และสามารถรับหรือชำระสินค้าได้ในทุกช่องทาง, การ Upgrade New E-Commerce ให้เกิดประสบการณ์ของผู้ใช้งานที่ประทับใจ ง่ายต่อการใช้งานในทุกๆ แพลตฟอร์ม และการ Upgrade Loyalty Program ทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของการเป็นสมาชิก และการเพิ่มรูปแบบการเช็กคะแนนหรือยอดสะสมแบบ Real Time ผ่านแอปพลิเคชัน ‘PP CLUB’
จากกลยุทธ์ที่วางแผนไว้ บริษัทมีความมั่นใจว่าจะสามารถสร้างความเติบโตอย่างก้าวกระโดดหรือโตขึ้นจากเดิมเป็นสองเท่าภายใน 3 ปีข้างหน้า หรือขยายธุรกิจให้แตะ 4,000 ล้านภายในปี 2026 โดยให้ความสำคัญต่อธุรกิจแบบ Brick and Mortar พร้อมไปกับการพัฒนา E-Commerce เพื่อให้สามารถขายสินค้าได้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้มีศักยภาพสูงในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน