GULF เผยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Beng เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เรียบร้อยแล้ว ขนาดกำลังผลิต 912 เมกะวัตต์ ที่อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 2.7129 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง จ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปี 76 มั่นใจปิดดีลเงินกู้ได้ปลายปีหน้าเพื่อเดินหน้าก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์จำกัด (มหาชน) (GULF) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 Pak Beng Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ กับ China Datang Overseas Investment Co.,Ltd.(“CDTO”) ภายใต้เครือของ China Datang CorporationLtd. รัฐวิสาหกิจและบริษัทพลังงานชั้นนำของจีน ที่มีโครงการผลิตไฟฟ้ากำลังการผลิตติดตั้งรวมกว่า 170,000 เมกะวัตต์ ครอบคลุม 13 ประเทศทั่วโลกในสัดส่วนร้อยละ 49 และ 51 ตามลำดับ ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินโครงการ Pak Beng ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) กับ กฟผ.เป็นที่เรียบร้อย โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลา 29 ปีนับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ และมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 2.7129 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
ทั้งนี้ โครงการ Pak Beng มีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ ใน สปป.ลาว มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาเงินกู้กับสถาบันการเงินโดยคาดว่าจะสามารถปิดการจัดหาเงินกู้ได้ภายในปลายปี 2567 และใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี กำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปี 2576 โดยจำหน่ายไฟฟ้าทั้งหมดให้ กฟผ.
โครงการ Pak Beng เป็นโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลและสภาแห่งชาติสปป.ลาว ซึ่งได้ลงนามสัญญาสัมปทาน (Concession Agreement) กับรัฐบาลลาวแล้วเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 โดยถือเป็นหนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-ลาวเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในลาว (MOU) เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) และเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) โดยภายใต้ MOU ประเทศไทยจะซื้อไฟฟ้าจากโครงการ
โรงไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นลาวและเชื่อมโยงผ่านระบบส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศ ซึ่ง ปัจจุบันมีกรอบปริมาณความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 10,500 เมกะวัตต์ มีโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 5,935 เมกะวัตต์ จำนวน 11 โครงการ โครงการที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 3,060 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โครงการ และ โครงการที่ลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) แล้ว 815 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โครงการ ความร่วมมือภายใต้ MOU ดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุรวมกว่าหมื่นเมกะวัตต์ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป และยังตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ Pak Beng จะช่วยลดความผันผวนจากราคาเชื้อเพลิง และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของ ประชาชนทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมให้ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาต่ำตลอดอายุสัญญา เนื่องจากโครงการ Pak Beng มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปัจจุบันที่ 4-5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง รวมทั้งข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการ Pak Beng จะต้องมีการใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้ารวมถึงบุคลากร การจ้างงานและการบริการจากประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศด้วย
โครงการ Pak Beng เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-the-River) ไม่มีการกักเก็บน้ำในรูปแบบของเขื่อนประเภทอ่างเก็บน้ำ (Reservoir) และไม่มีการเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งโครงการนี้ได้รับความเห็นชอบผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม รวมถึงเรื่องการระบายตะกอน ทางผ่านปลา การโยกย้ายถิ่นฐานของชุมชนในบริเวณโครงการ Pak Beng ในลาว และผลกระทบข้ามพรมแดน (Environmental and Social Impact Assessment : ESIA) จากรัฐบาลลาว เป็นที่เรียบร้อย