xs
xsm
sm
md
lg

EGCO ลุ้น 3 เดือนปิดดีลโรงไฟฟ้าเพิ่ม ปี 67 ลุยนิคมฯ-ขายทิ้งเหมืองถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาครึ่งหลังปี 2566 บริษัทผลิตไฟฟ้าไทยติดเครื่องเดินหน้าการลงทุน รวมถึงการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศกันคึกคัก โดยประเทศเป้าหมายที่เอกชนไทยให้ความสนใจในช่วงนี้หนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบเอเชีย ส่วนใหญ่เน้นลงทุนโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว มีทั้งพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)(EGCO) หรือเอ็กโก กรุ๊ป ประกาศปักหมุดลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ช่วงครึ่งปีหลังนี้ในสหรัฐฯ 2 โครงการ และอาเซียนอีก 1-2 โครงการ หวังบรรลุเป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้น 1,000 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 2566 ด้วยเม็ดเงินลงทุนราว 30,000 ล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกทำได้ค่อนข้างต่ำเพียง 100 เมกะวัตต์เท่านั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 เอ็กโก กรุ๊ป ประกาศความสำเร็จในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 1 โครงการ โดยส่ง “เอ็กโก คัมแพซ ทู แอลแอลซี” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้เซ็นสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัทในเครือโลตัส อินฟราสตรักเชอร์ พาร์ทเนอร์ เพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วน 50% ใน “พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ” (Compass Portfolio) ซึ่งเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (CCGT) จำนวน 3 แห่งในสหรัฐอเมริกา รวมกำลังการผลิต 1,304 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมมาร์คัส ฮุก  ขนาด 912 เมกะวัตต์ในรัฐเพนซิลเวเนีย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมมิลฟอร์ดขนาด 205 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมไดตันขนาด 187 เมกะวัตต์ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งโรงไฟฟ้าเหล่านี้สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว และส่วนไฟฟ้าที่เหลือก็ขายในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าพีเจเอ็ม (PJM) และนิวอิงแลนด์ (ISO-NE)


การลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งนี้คิดเป็นกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 652 เมกะวัตต์ คาดว่าจะช่วยเพิ่มกำไรให้เอ็กโก กรุ๊ปประมาณ 600-800 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากโรงไฟฟ้าทั้งหมดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 3 เดือนก่อนสิ้นสุดปี 2566 จะเป็นการพิสูจน์ว่าเอ็กโก กรุ๊ปจะปิดดีล M&A ไฟฟ้าใหม่เพิ่มอีกได้หรือไม่ โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ยังขาดอยู่ 250-300 เมกะวัตต์ จึงจะบรรลุเป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 1,000 เมกะวัตต์ เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยากสำหรับบริษัทที่มีฐานการผลิตไฟฟ้ามากถึง 8 ประเทศ มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 6,317 เมกะวัตต์ (ไม่รวมพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ) เพราะในช่วงปลายปี 2565 เอ็กโก กรุ๊ปเคยทำได้ โดยลงทุนโรงไฟฟ้า RISEC ที่สหรัฐอเมริกา ขนาดกำลังผลิต 609 เมกะวัตต์

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่นับวันทวีความรุนแรงและรวดเร็วมากขึ้น ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการไฟฟ้าที่จะต้องช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอนลงจนเหลือศูนย์ ดังนั้นบริษัทได้จับมือกับพันธมิตรหลายรายศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อก้าวสู่พลังงานแห่งอนาคต ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง ล่าสุดโครงการโรงไฟฟ้าลินเดน โคเจนหน่วยที่ 6 กำลังผลิต 172 เมกะวัตต์ที่สหรัฐอเมริกาได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่นำไฮโดรเจนที่ได้จากกระบวนการผลิตของโรงกลั่นเป็นเชื้อเพลิงผสมร่วมก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้า ช่วยลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติและลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ



สอดคล้องแผนระยะกลางและยาวของบริษัทที่มุ่งสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตอย่างซัปพลายเชนไฮโดรเจน รองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสีเขียว บริษัทได้จับมือกับพันธมิตรศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแอมโมเนียมาผสมกับถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ที่จังหวัดระยอง ส่วนโรงไฟฟ้าขนอม ก็ศึกษาการนำไฮโดรเจนมาผสมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า หวังลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ว่าจะเป็นถ่านหินและก๊าซธรรมชาติและยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยยอมรับว่าโครงการนี้จะเกิดได้ต้องได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ เพื่อให้ต้นทุนไฮโดรเจนมีราคาถูกลง ไม่ให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ส่วนเหตุผลที่เลือกโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งนำร่องศึกษาเรื่องนี้เพราะมีท่าเรือและติดทะเล จึงได้เปรียบในการขนส่งแอมโมเนียและ/หรือไฮโดรเจน รวมทั้งการนำคาร์บอนที่ถูกดักจับจากโครงการ CCS ไปฝังในหลุมปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้แล้วในทะเล

นอกจากนี้ บริษัทได้จับมือกับกลุ่มมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ในการศึกษาการผลิตกรีนไฮโดรเจนจากโรงไฟฟ้าโบโค ร็อควินด์ฟาร์มที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมกรีนไฮโดรเจน

สนใจซื้อโรงไฟฟ้า APEX

นายเทพรัตน์กล่าวถึงการขยายโครงการพลังงานหมุนเวียนของบริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง (APEX) ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่เอ็กโก กรุ๊ปถือหุ้นอยู่ 17.46% ว่า ในปีนี้บริษัทรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้น 2 โรงไฟฟ้าของเอเพ็กซ์กำลังผลิตรวม 294 เมกะวัตต์ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว และมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 5 โครงการ ประกอบด้วยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 395 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานลม 1 โครงการ กำลังผลิต 129 เมกะวัตต์ และโครงการ Battery Storage 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 133 เมกะวัตต์ คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2566- 2568

แม้ว่า APEX จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาแต่มีโครงการที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนาอีกจำนวนมากถึง 242 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 53,767 เมกะวัตต์ ดังนั้นเมื่อโครงการโรงไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะขายให้ผู้ที่สนใจหากได้ราคาที่เหมาะสม เพื่อนำเงินไปลงทุนพัฒนาโครงการอื่นเพิ่มเติม แต่บางโรงไฟฟ้าก็เน้นขายไฟเข้าตลาดกลางแทน ซึ่งเป็นรูปแบบการทำธุรกิจ APEX น่าสนใจ และเชื่อว่าจะได้รับความสนใจหากนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ขณะเดียวกัน หากโครงการโรงไฟฟ้าของ APEX ที่มีศักยภาพดี เอ็กโก กรุ๊ปพร้อมที่จะเข้าไปซื้อโรงไฟฟ้าดังกล่าวเข้ามาอยู่ในพอร์ตด้วย


ความคืบหน้าโครงการหยุนหลิน ที่ไต้หวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างกังหันลมนอกชายฝั่งทะเล โดยได้ติดตั้งกังหันลมและจ่ายไฟไปแล้ว 22 ต้นจากทั้งหมด 80 ต้นที่คาดว่าสิ้นปีนี้จะติดตั้งกังหันลมได้ 36 ต้น และปีหน้าจะติดตั้งและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ครบทั้งหมดตามเงื่อนไขเวลาที่ได้อนุมัติเลื่อนกรอบการจ่ายไฟฟ้าออกไปเป็นปลายปี 2567 ทำให้บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าปรับจากความล่าช้าในการก่อสร้างถึง 2 ปีอันสืบเนื่องจากลมมรสุมและการแพร่ระบาดโควิด-19

โครงการดังกล่าวเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มพอร์ตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ตามเป้าหมายที่เอ็กโก กรุ๊ปกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 30% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวมในปี 2573 จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 22%


จ่อขายเหมืองถ่านหินชัดเจนปี 67

นายเทพรัตน์กล่าวว่า เอ็กโก กรุ๊ปไม่มีนโยบายลงทุนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มเติมอีกต่อไป และมีแผนการขายเหมืองถ่านหินมานัมบัง เมาราอีนิม จังหวัดสุมาตราใต้ ประเทศอินโดนีเซีย ขณะนี้มีผู้ที่สนใจหลายรายเข้ามาทำดิวดิลิเจนต์ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติเพราะผู้ซื้อต้องการให้ราคาถ่านหินเข้าสู่ภาวะปกติ จากเดิมที่เคยพุ่งสูงมากในช่วงเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน และขณะนี้ราคาถ่านหินโลกได้ปรับตัวลงมาใกล้สู่ภาวะปกติแล้ว บริษัทคาดว่าจะดำเนินการขายธุรกิจเหมืองถ่านหินได้ในปี 2567

สำหรับอายุสัมปทานเหมืองถ่านหินมานัมบัง เมาราอีนิมจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2581 มีปริมาณถ่านหินสำรอง 140 ล้านตัน โดยเฉลี่ยเหมืองนี้ผลิตถ่านหินราว 1.1 ล้านตันต่อปี

ที่ผ่านมา บริษัทพร้อมที่จะขายเหมืองถ่านหินที่เอ็กโก กรุ๊ปถือหุ้นทางอ้อมอยู่ 40% หากมีผู้สนใจและให้ราคาที่เหมาะสม เช่นเดียวกับการขายสินทรัพย์ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินมาซินลอคที่ฟิลิปปินส์ การขายหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ และขายหุ้นบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสต์วอเตอร์ ไม่ใช่ว่าธุรกิจเหล่านี้ขาดทุนหรือกำไรลดลง แต่ผู้ซื้อเสนอเงื่อนไขที่ดีและให้ราคาที่มีผลตอบแทนสูง

นอกจากนี้ การตัดขายธุรกิจเหมืองถ่านหินยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลง สอดคล้องเป้าหมายบริษัทที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 10% ในปี ค.ศ. 2030 และขยับสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี ค.ศ.  2040 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2050


ลุยขายที่ดินนิคมฯ เอ็กโกระยอง

ส่วนนิคมอุตสาหกรรม “เอ็กโกระยอง” ในพื้นที่ 621 ไร่ (พื้นที่โรงไฟฟ้าระยองเดิม) ที่มาบตาพุด จังหวัดระยองนั้น ในปีหน้าบริษัทจะเดินหน้าพัฒนานิคมฯ เฟสแรก ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้า และน้ำ ควบคู่การขายที่ดินในนิคมฯ ให้แก่ลูกค้าที่สนใจ โดยบริษัทมีที่ดินเสนอขายเพียง 400 กว่าไร่ หากการขายที่ดินฯ ได้รับความสนใจมาก บริษัทก็มีแผนซื้อที่ดินรอบข้างนิคมฯ เพิ่มเติมด้วย

ส่วนการหาพันธมิตรร่วมทุนนั้น ยอมรับว่านิคมฯ ไม่ใช่ธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ จำเป็นต้องหาพันธมิตรที่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมทุน ขณะนี้ได้มีการเจรจากับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

ก่อนหน้านี้ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับบริษัท Hitachi Asia (Thailand) Co., Ltd. และบริษัท Hitachi Energy (Thailand) Limited เรื่องการดำเนินโครงการศึกษาการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะ ภายใต้โครงการ “Accelerated Digital Transformation: DX Study” ในนิคมอุตสาหกรรม “เอ็กโกระยอง” เพื่อร่วมกันพัฒนาแผนงานด้านเทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะที่เหมาะสมในนิคมอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงนำผลการศึกษาไปต่อยอดในโครงการพัฒนาอื่นๆ ของเอ็กโก กรุ๊ป ตามความเหมาะสม

เพื่อพัฒนาให้นิคมฯ เอ็กโกระยอง เป็นนิคมฯ อัจฉริยะสีเขียว ซึ่งได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็น “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” เพื่อรองรับอุตสาหกรรม ทั้งประเภท S-Curve และ New S-Curve โดยมี 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการผลิตด้วยหุ่นยนต์ รวมทั้งอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ Data Center เป็นต้น รองรับอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งประเมินว่าเมื่อนิคมฯ เปิดดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 16,840 ล้านบาท

ลั่นผลดำเนินงานครึ่งปีหลังโตขึ้น

สำหรับผลประกอบการครึ่งหลังในปี 2566 เอ็กโก กรุ๊ปมั่นใจมีรายได้และกำไรเติบโตกว่าครึ่งปีแรกที่มีรายได้รวม 28,706 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 3,842 ล้านบาทมาจากการรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม รวมถึงโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (TPN) ที่อยู่ระหว่างทดสอบเดินเครื่องเต็มรูปแบบ คาดจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปีนี้ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 ใน สปป.ลาว มีปริมาณน้ำเต็มเขื่อนทำให้ผลิตและจ่ายไฟได้เพิ่มขึ้น โรงไฟฟ้าพลังงานลมหยุนหลินในไต้หวัน ที่เริ่มทยอยจ่ายไฟเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น

ในปี 2565 เอ็กโก กรุ๊ป รับรู้รายได้จากสหรัฐอเมริการวม 3,900 ล้านบาท มาจากโรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน 3,125 ล้านบาท และโครงการเอเพ็กซ์ 775 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 จะรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าไรเซ็ก ส่วนการรับรู้รายได้จาก “พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ” จะรับรู้รายได้ทันทีต้องรอการปิดดีลสมบูรณ์

ส่วนกรณีที่รัฐบาลประกาศปรับลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.99 บาท/หน่วยเริ่มตั้งแต่งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 นั้น ส่งผลกระทบต่อบริษัทไม่มาก เนื่องจากเอ็กโก กรุ๊ปมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นส่วนใหญ่ มีเพียงแค่ 3% ที่เป็นการขายไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าอุตสาหรรม (industrial users หรือ IU) ที่จะได้รับผลกระทบจากการประกาศปรับลดค่าไฟจากรัฐบาลใหม่

อย่างไรก็ดี การเดินหน้าลดค่าครองชีพประชาชนทันทีของรัฐบาล "เศรษฐา" ด้วยการปรับลดราคาพลังงานไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำมัน และอื่นๆ ก็ตาม แม้เป็นมาตรการช่วยเหลือเรื่องปากท้องประชาชนระยะสั้นก็ต้องรอบคอบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจบาง sector และภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยต้องนำเข้าพลังงาน ความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้


กำลังโหลดความคิดเห็น