ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่าก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับประเทศไทยที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโกเมื่อวันอังคารที่ 19 กันยายน 2566 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย นับเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของประเทศไทย และยังเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทยอีกด้วย ซึ่งดาวเทียม WorldView-3 ได้บันทึกภาพไว้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 แสดงให้เห็นบริเวณพื้นที่อุทยานฯ ที่มีลักษณะทางกายภาพของเมืองโบราณศรีเทพที่ค่อนข้างสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่กว่าโบราณสถานอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย เมืองโบราณแห่งนี้มีคูเมืองเป็นกำแพงเมืองล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย เมืองชั้นในและเมืองชั้นนอก มีพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,889 ไร่ ซึ่งถูกโอบล้อมไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนโดยรอบที่มีร่องรอยหลักฐานสะท้อนถึงการดำรงชีวิตของประชาชนที่เรียบง่ายตามวิถีดั้งเดิมของคนในพื้นที่
ทั้งนี้ WorldView-3 เป็นดาวเทียมที่มีศักยภาพสูงสามารถบันทึกภาพพื้นที่ได้มากถึง 680,000 ตร.กม. บันทึกภาพได้ทั้งระบบช่วงคลื่น Panchromatic และช่วงคลื่นอื่นๆ อีกมากถึง 16 แบนด์ เช่น Multispectral ระดับ 1.24 เมตร, Short-wave Infrared ระดับ 3.7 เมตร และ CAVIS ระดับ 30 เมตร ที่รวมเรียกว่า “Super-spectral” ด้วยคุณสมบัติที่ให้ข้อมูลภาพรายละเอียดสูงจึงเหมาะสมกับการนำไปใช้ในที่ต้องการภาพข้อมูลพื้นผิวโลกที่ชัดเจน เช่น การขยายตัวเมือง การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ แยกแยะรูปแบบการปลูกพืช/ชนิดพืช งานด้านสมุทรศาสตร์ งานแผนที่รายละเอียดสูง และงานภัยพิบัติ เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติมของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจากกรมศิลปากร "เมืองชั้นใน" ผังเมืองค่อนข้างกลม มีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ ภายในตัวเมืองมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลอนลูกคลื่น มีโบราณสถานกระจายตัวอยู่ 48 แห่ง นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณทั้งขนาดใหญ่และเล็กอีกจำนวนกว่า 70 แห่ง สำหรับ "เมืองชั้นนอก" ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองชั้นใน มีพื้นที่ประมาณ 1,589 ไร่ ผังเมืองค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ภายในตัวเมืองสำรวจพบโบราณสถาน จำนวน 64 แห่ง มีสระน้ำโบราณจำนวนมากเช่นกัน อีกทั้งนอกคูเมืองกำแพงเมืองโบราณยังมีการสำรวจพบโบราณสถานอีกจำนวน 50 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศเหนือของเมือง ที่สำคัญ ได้แก่ โบราณสถานเขาคลังนอก โบราณสถานปรางค์ฤๅษี กลุ่มโบราณสถานเขาคลังสระแก้ว และสระแก้ว สระน้ำโบราณขนาดใหญ่ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกนอกเมืองโบราณศรีเทพห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเขาถมอรัตน์ ภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะ ซึ่งใช้เป็นจุดสังเกตในการเดินทางที่สำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยบริเวณเชิงเขาเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือและกำไลหินที่สำคัญ ต่อมาในสมัยทวารวดีได้มีการดัดแปลงถ้ำหินปูนที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแบบมหายาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14
สำหรับข้อมูลจากกรมศิลปากรยังระบุอีกว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์จำนวนสิบแห่งของประเทศไทยในปัจจุบันที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 สำหรับชื่อเรียก “ศรีเทพ” นั้นเป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จฯ ตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2447 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ซึ่งรวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า 800 ปี ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้ง
ส่วนประชาชนที่สนใจจะไปเที่ยว การเดินทางก็สะดวกสบาย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจะอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ไปประมาณ 130 กิโลเมตร ที่สำคัญคือสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี