เพชรบูรณ์ - ชาวเพชรบูรณ์เฮกันสนั่นเมือง..หลังยูเนสโกรับรองอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ เตรียมฉลองใหญ่ 21 กันยาฯ นี้
ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 45 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-25 กันยายน ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้มีการประชุมพิจารณารับขึ้นทะเบียนมรดกโลกของประเทศต่างๆ ที่ได้นำเสนอ รวมทั้งประเทศไทย ที่ได้ผลักดันอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่มีประวัติมายาวนานกว่า 1,700 ปีให้เป็นมรดกโลก
ปรากฏว่าที่ประชุมได้มีการประกาศรับรองอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยนับเอาพื้นที่ที่เป็นสามองค์ประกอบอันทรงคุณค่าและมีความเชื่อมโยงกันทั้งในด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และเขาถมอรัตน์ ซึ่งได้เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ในปี พ.ศ. 2562 กระทั่งได้รับการพิจารณาและประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา (19 ก.ย. 66) ท่ามกลางการลุ้นระทึกและรอคอยมาอย่างยาวนาน
นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ได้เตรียมพร้อมรวมทั้งนำข้อมูลอุทยานฯศรีเทพเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกตั้งแต่ปี 2562 แล้ว เช่นการจัดทำสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ปรับปรุงถนน เพิ่มแสงสว่างในเส้นทางเข้าออกอุทยานฯ รวมทั้งมีการทำผังเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่จะบดบังหรือทำลายทัศนียภาพของโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นมรดกโลก กระทั่งได้รับการรับรองช่วงบ่ายที่ผ่านมา
ส่วนการเฉลิมฉลองนั้นจังหวัดได้จัดกิจกรรมมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2566 แล้ว แต่การเฉลิมฉลองเน้นอยู่ในความสงบ โดยในช่วงเช้าจะเป็นการตักบาตรพระสงฆ์ ในช่วงเย็นจะมีการนั่งสมาธิ สวดมนต์ รับฟังพระธรรมเทศนาจากพระเถระ ซึ่งมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
แต่จะมีการเฉลิมฉลองใหญ่ในวันที่ 21 ก.ย. 2566 จะมีการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ การรำถวาย การจุดเทียนเฉลิมฉลอง ให้ตรงตามสิ่งปลูกสร้างเมืองศรีเทพที่มีความเกี่ยวพันเกี่ยวเนื่องกับศาสนา
แต่ทั้งนี้ จังหวัดได้รับการประสานเบื้องต้นจากกระทรวงวัฒนธรรมว่าจะจัดงานฉลองใหญ่ในระดับประเทศอีกครั้ง
สำหรับเมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์กว่า 2,000 ปี และมีความสำคัญมากที่สุดเมืองหนึ่งในวัฒนธรรมทวารวดี มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมแรกสุดของการพัฒนาชุมชนจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์สู่ชุมชนเมืองที่มีวิทยาการ โดยมีผังเมือง และคูน้ำคันดินที่สมบูรณ์และเป็นเอกลักษณ์ ผังเมืองเดิมมีลักษณะเป็นรูปเกือบเป็นวงกลมเรียกว่า เมืองใน ต่อมาได้ขยายออกมาอีกชั้นหนึ่งเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน เรียกว่าเมืองนอก ทั่วบริเวณมีประจักษ์หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นการแลกเปลี่ยนและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมดังปรากฏในรูปเคารพ พระพุทธรูป พระนารายณ์ จารึกโบราณ และศาสนสถาน ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่
โบราณสถานเขาคลังนอก เป็นศาสนสถานแห่งเดียวที่คงเหลือและมีความสมบูรณ์ครบถ้วน โดยเป็นศาสนาสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ปรากฏในรูปแบบศิลปะทวารวดีในประเทศไทย ซึ่งมีการวางผังสะท้อนแนวคิดเรื่องมณฑลจักรวาลหรือศูนย์กลางจักรวาลผ่านแผนผังที่มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีการย่อเก็จและฐานบัววลัยที่มีปราสาทจำลองประดับ เขาคลังนอกมีแกนอันศักดิ์สิทธิ์เชื่อมโยงกับเขาถมอรัตน์
เขาถมอรัตน์ เป็นเขาหินปูน และขุนเขาศักดิ์สิทธิ์วางผังเป็นแนวแกนเดียวกับโบราณสถานเขาคลังนอกภูเขามีรูปลักษณ์เฉพาะ ซึ่งใช้เป็นจุดสังเกตหรือแลนด์มาร์กในการเดินทางที่ท้าทายและสำคัญที่เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในสมัยทวารวดีได้มีการดัดแปลงถ้ำหินปูนที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขาให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแบบมหายาน จนก่อเกิดเป็นแหล่งรวมความศรัทธาของนักเดินทาง เส้นทางแสวงบุญอันศักดิ์สิทธิ์ และยังเป็นศาสนสถานประเภทถ้ำในวัฒนธรรมทวารวดี เนื่องในพุทธศาสนามหายานแห่งเดียวในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ศรีเทพเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกเพิ่มขึ้นเป็น 7 แห่ง และศรีเทพนับเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งที่ 4 ของประเทศไทย ซึ่งจากนี้จะนับเป็นสถานที่หรือพื้นที่สำคัญที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายโดยอนุสัญญาระหว่างประเทศซึ่งบริหารงานโดยองค์กร UNESCO