xs
xsm
sm
md
lg

โควิดพ่นพิษผู้ผลิตป้ายเดี้ยง ลุ้นปีนี้ฟื้นชีพมูลค่าแตะพันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - ยุคโควิดถล่มผู้ผลิตป้ายโฆษณารายย่อยล้มเหลือหลักหมื่นต้นๆ จากนับแสนราย ปีนี้เชื่อกลับมาฟื้นชีพ พร้อมมูลค่ารวมตลาดผลิตป้ายโฆษณาทะลุ 1,000 ล้านบาท โตจากปีก่อน 50% “แกรนด์ มาสเตอร์ เอ็กซิบิชั่น” มองเป็นขาขึ้น จัดงาน BANGKOK AD&SIGN EXPO 2023 ระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายนนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี หวังช่วยอัปสกิลและเพิ่มมูลค่างานป้ายโฆษณาและงานพิมพ์แฟชั่นได้อีกมาก คาดในงานเงินสะพัดร่วม 1,500 ล้านบาท


ดร.แพรลฎา พจนารถ นายกสมาคมส่งเสริมไทยธุรกิจโฆษณา (TABDA) เปิดเผยว่า จากข้อมูลการวิเคราะห์ของนีลเส็น (Nielsen) หลังวิกฤตโควิด-19 คาดการณ์ว่าภาพรวมสื่อโฆษณานอกบ้านจะมีมูลค่ากว่า 13,700 ล้านบาทต่อปี หรือเติบโตถึง 33% จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างๆ เร่งขยายธุรกิจ

ในขณะที่ผู้ผลิตสื่อนอกบ้านต้องพัฒนาและหาโอกาสในการเติบโต โดยเฉพาะการนำวิชาชีพพื้นฐานต่อยอดร่วมกับเทคโนโลยีการผลิต การนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้สื่อมีมูลค่ามากกว่าการมองเห็นแบบเดิมๆ จึงจะแข่งขันกับสื่อดิจิทัลและเติบโตต่อไปได้


อย่างไรก็ตาม ก่อนเกิดโควิดมีผู้ผลิตป้ายโฆษณารายย่อยทั่วประเทศรวมกันสูงถึงหลักแสนราย ประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก คือ 1. วิสาหกิจรายย่อย หรือธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และการจ้างงานไม่เกิน 5 คน และ 2. วิสาหกิจขนาดย่อม มีการจดทะเบียนเป็นบริษัท เป็นธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี และการจ้างงานไม่เกิน 50 คน ซึ่งช่วงโควิดส่งผลให้ผู้ผลิตเหล่านี้ล้มหายไปมาก ปัจจุบันเหลือเพียงหลักหมื่นต้นๆ เท่านั้น

ในปีนี้มองว่าจากสถานการณ์มูลค่าสื่อนอกบ้านที่กลับมาเติบโตสูงนั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ผลิตเหล่านี้กลับมาในธุรกิจนี้อีกครั้ง หรือปีนี้เชื่อว่ามูลค่ารวมของตลาดการผลิตป้ายโฆษณาจะเติบโตจากปีก่อนร่วม 50% หรือมีมูลค่ารวมที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งกว่า 60% มาจากผู้ผลิตรายย่อย และอีก 40% มาจากผู้ผลิตรายใหญ่ อย่าง Hello และโกลด์สตาร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ได้เข้าร่วมงาน BANGKOK & SIGN EXPO 2023 โดยได้จัดเวิร์กชอปและเสวนา เช่น การอบรมกฎหมายและภาษีในธุรกิจป้ายโฆษณา การแข่งขัน Wrap สติกเกอร์รถ และการประกอบสื่อประเภท Display สามมิติ เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาส ทักษะ และไอเดีย การออกแบบให้แก่ผู้ผลิตป้าย เพื่อสร้างความแตกต่าง และเป็นจุดแข็งให้การผลิตป้ายโฆษณาให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้


ด้านนายเกษม ดุษฎีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ มาสเตอร์ เอ็กซิบิชั่น จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดแสดงเทคโนโลยีการผลิตสื่อโฆษณาและงานป้าย กล่าวว่า ปี 2566 นี้บริษัทได้ร่วมมือกับสมาคมส่งเสริมไทยธุรกิจโฆษณา (TABDA) สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย (TGMA) สมาคมป้ายลาว และ Shanghai Wosen Expo Co., Ltd. ในการประกาศความพร้อมจัดงานเทรดโชว์ที่รวมสุดยอด 3 งานใหญ่แห่งปี

ประกอบด้วย 1. BANGKOK AD & SIGN EXPO 2023: งานแสดงเทคโนโลยีการผลิตป้าย สื่อโฆษณา งานติดสติกเกอร์ยานพาหนะและอาคาร, 2. BANGKOK DIGITAL TEXTILE & PRINT EXPO 2023: งานแสดงเทคโนโลยีการพิมพ์ลายผ้า สกรีนเสื้อผ้า ชุดกีฬา และจักรปักคอมพิวเตอร์ และ 3. BANGKOK PACK & LABEL EXPO 2023: งานแสดงเทคโนโลยีการพิมพ์บรรจุภัณฑ์กระดาษ และฉลากสินค้า ภายใต้แนวคิด “Innovation of Digital Printing that Makes Money” บนพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร


ในงานจะยกขบวนเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลสำหรับงานผลิตป้าย สื่อโฆษณา งานพิมพ์ผ้า เสื้อผ้า ชุดกีฬา งานบรรจุภัณฑ์ และฉลากสินค้ากว่า 1,000 แบรนด์ 75,000 รายการ จากบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศกว่า 400 บูท เสริมทัพด้วยเวิร์กชอปและเสวนาให้ความรู้จากกูรูมืออาชีพ อัปสกิลเพิ่มโอกาสต่อยอดธุรกิจ พร้อมโปรโมชันสุดพิเศษ โดยจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายนนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

“ไฮไลต์การจัดงานในปีนี้ คือ 3-in-1 EXPO ที่จะเป็นศูนย์กลางอัปเดตเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพิมพ์ดิจิทัลของธุรกิจผลิตป้าย และสื่อโฆษณา งานพิมพ์แฟชั่นและเสื้อผ้า ชุดกีฬา งานพิมพ์บรรจุภัณฑ์และฉลากสินค้าแบบครบวงจร พร้อมไอเดียสร้างสรรค์ โปรโมชันเครื่องพิมพ์ระบบดิจิทัล สินค้าและบริการราคาพิเศษส่งท้ายปี จากบริษัทผู้แทนจำหน่ายชั้นนำ รวมถึงการเสวนาให้ความรู้และเวิร์กชอปสุดเข้มข้น อัปสกิลและต่อยอดธุรกิจ เป็นงานเทรดโชว์แห่งปีที่เปิดพื้นที่ให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายชั้นนำได้พบปะกับผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ร่วมออกบูทจะได้พบปะกับผู้ซื้อตัวจริง โดยคาดว่าตลอดการจัดงาน 4 วันจะเกิดมูลค่าการซื้อขายทางธุรกิจภายในงานไม่ต่ำกว่า 1,200-1,500 ล้านบาท และต่อเนื่องอีก 3 เดือนหลังจบงานจะมีการซื้อขายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30%” นายเกษมกล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น