ผู้จัดการรายวัน 360- ตลาดโฆษณาปี 66 เข็นไม่ขึ้น แม้โค้งท้ายปีจะมีรัฐบาลใหม่ ช่วยอุ้ม Q4 โตเฉียด 5% แต่ทั้งปึคาดตลาดโฆษณาทำได้ราว 83,031 ล้านบาท หรือโตเพียง 2.5% จาก 5% ที่มองไว้ รอชมผลงานรัฐบาลปีหน้า พาโฆษณากลับมาโต 5%
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานและซีอีโอ บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI GROUP เปิดเผยว่า จากที่ประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่ และได้เห็นโฉมหน้าโผครม. เศรษฐา 1 ออกมาแล้ว บวกกับปัจจัยบวกที่มีต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก อย่างสื่อดิจิทัล สื่อเอาท์ออฟโฮมที่เติบโต การท่องเที่ยวฟื้นกลับมา และสถานะภาพการเมืองที่นิ่งขึ้น รวมถึงเป็นช่วงไฮซีซั่น จึงคาดการณ์ว่า ตลาดสื่อโฆษณาในช่วงไตรมาสสี่ จะเติบโตได้ถึง 4.8%
“ผลจากการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ และหากไม่มีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการเมืองและรัฐบาลใหม่ แม้จะมีนโยบายบางอย่างที่ประกาศว่าจะทำเลยหลังรัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศภายในปลายเดือนกันยายน เช่น การปรับลดราคาเชื้อเพลิง ค่าครองชีพ แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทุกคนเฝ้ารอน่าจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดในช่วงต้นปีหน้าเป็นอย่างเร็ว อย่าง เงินดิจิตัล 10,000 บาท หรืออาจส่งผลได้ในระยะเวลาอีกหลายปี เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือนนักศึกษาจบใหม่ เงินเดือนข้าราชการ ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นต้น ล้วนเป็นการนับถอยหลังของความหวังจากนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะสร้างขึ้น โดยจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนในปีหน้า ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นและเม็ดเงินในตลาดโฆษณา หรือในปี 2567 คาดการณ์ว่าเม็ดเงินโฆษณารวมจะกลับมาโตได้ไม่เกิน 5%”
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับภาพรวม 8 เดือนที่ผ่านมา พบว่าเม็ดเงินโฆษณาและสื่อสารการตลาดไม่โตตามคาด เหตุจากความท้าทายและปัจจัยลบที่ยังมีมาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น GDP โตต่ำกว่าคาด (อยู่ในกรอบต่ำกว่า +3%) ของแพง ค่าครองชีพสูง หนี้ครัวเรือนสูง ส่งออกติดลบ การเมืองหลังเลือกตั้งยังไม่นิ่ง ทำให้ความเชื่อมั่นและอุปสงค์ต่ำ ประกอบกับมีปัจจัยบวกอันน้อยนิด อาทิ ท่องเที่ยวบูม ต่างชาติทะลักเข้าไทย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม รับอานิสงส์ถ้วนหน้า แต่ไม่เพียงพอในการฟื้นอุปสงค์ในประเทศ จึงคาดการณ์ใหม่ว่าเม็ดเงินโฆษณาปีนี้น่าจะโตเพียง 2.5% หรือน่าจะอยู่ที่ 83,031 ล้านบาท จากต้นปีที่ประเมินไว้ว่าจะเติบโตได้ถึง 5%
นายภวัต กล่าวต่อว่า เมื่อเจาะลึกถึงในภาพรวมสื่อโฆษณาแล้ว คาดการณ์ว่า เม็ดเงินโฆษณาบนสื่อโทรทัศน์จะลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือปีนี้น่าจะมีมูลค่าที่ 36,199 ล้านบาท หรือ -1% เทียบกับปีก่อน ซึ่งตัวขับเคลื่อนหลักของสื่อโทรทัศน์ในปีนี้คือ คอนเทนต์รายการประเภทข่าว วิเคราะห์ข่าวและละคร ซึ่งปีนี้กลับมาคึกคักเป็นพิเศษ
ส่วนรายการประเภทอื่นค่อนข้างถดถอยและถูกท้าทายอย่างต่อเนื่องหลักๆ ส่วนสื่อดิจิทัล ปีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้น 7% คิดเป็นมูลค่า 27,481 ล้านบาท ซึ่งตัวขับเคลื่อนยังคงมาจาก 2-3 แพลตฟอร์มหลัก คือ Meta และ YouTube ส่วน TikTok น่าจับมองในแง่การเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาและอิมแพคในเชิง Full-Funnel Solution หลัง MI GROUP คาดผู้ใช้งานเป็นประจำในไทยทะลุมากกว่า 30ล้านคน (monthly users base 49.3M users info by TikTok) โดยมีเหล่า Creators (Influencers) เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในยุคที่ e-commerce economy เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้สื่อดิจิทัลคึกคักและเติบโตต่อเนื่อง และสื่อนอกบ้าน (Out of Home & Transit) ยังคงเติบโตต่อเนื่องอีก 10% หรือมีมูลค่ากว่า 12,101 ล้านบาท ถือเป็นสื่อที่เติบโตสูงสุด ส่วนหนึ่งเพราะฐานยังเล็ก บวกกับไลฟ์สไตล์ผู้คนเริ่มออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน รวมถึงเจ้าของสื่อมีการควบรวมกัน เกิดเป็นเครือข่ายในการให้บริการสื่อนอกบ้าน เป็นต้น