ภาคเอกชนโดย "กกร." ส่งสัญญาณเตรียมหารือ "เศรษฐา" และทีมเศรษฐกิจหวังร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศท่ามกลางสารพัดปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาปากท้อง และการหาตลาดใหม่รับมือส่งออกชะลอ มองโฉมหน้า ครม.เศรษฐา 1 ทีม ศก.หลายคนผ่านงานมาแล้ว แต่บางคนยังไม่ผ่านก็ต้องให้โอกาส
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้วนั้น คาดว่าเร็วๆ นี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สมาคมธนาคารไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะได้มีโอกาสหารือร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจเพื่อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะที่เหลือของปีนี้ ทั้งการแก้ไขปัญหาปากท้องชาวบ้าน และผลักดันการแก้ไขปัญหาภาพรวมที่รวบรวมไว้ในสมุดปกขาวที่ กกร.ได้จัดทำขึ้นและได้มอบให้กแต่ละพรรคการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา
“สมุดปกขาวมุ่งเน้นเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างยั่นยืน และประเด็นอื่นๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการที่เป็นปัญหาใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้ประกอบการกว่า 20 อุตสาหกรรมใน ส.อ.ท.กำลังได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีสินค้าราคาถูกจำนวนมากทะลักเข้ามาไทยโดยเฉพาะจากจีน ปัญหาติดขัดเรื่องการส่งออกที่เร่งแก้ไข เช่น อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บาง ที่ติดอยู่ที่ท่าเรือโดยไม่ทราบสาเหตุ และจะขยายผลเรื่องการบริหารจัดการน้ำจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการขยับอะไร โดยจะเสนอการแก้ไขปัญหาในระยะยาวในการแก้ไข ฯลฯ” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับหน้าตา ครม.เศรษฐา 1 ไม่ได้ผิดจากโผที่มีออกมาก่อนหน้าแล้วมากนัก โดยพบว่า ครม.เศรษฐกิจหลายคนก็ได้เคยเห็นผลงานมาแล้ว แต่สำหรับบางคนที่ยังไม่เคยเห็นก็ต้องให้โอกาสทำงาน และดูว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐา จะทำอย่างไรในการนำพาทีมเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในทุกระดับ
“พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีประสบการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ ต้องระดมบุคลากรมาช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้ฟื้น ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงเปราะบาง ซึ่งทีมเศรษฐกิจต้องทำงานทันทีและทำแบบเต็มที่ ที่สำคัญคือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับปัญหาที่อยากให้เร่ง คือ ปัญหาปากท้องที่เคยพูดมาอย่างต่อเนื่อง เพราะตอนนี้หลายอย่างค่อนข้างจมลึก ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือน ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ปัญหาต้นทุนการผลิต ดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นล้วนกดทับเศรษฐกิจไทย และต้องหาโครงการใหม่ๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นอัดฉีดเม็ดเงิน การจ้างงาน ส่วนเรื่องที่สองคือ การดูโครงสร้างเศรษฐกิจ การหาตลาดใหม่ๆ ด้านการส่งออก เพราะตอนนี้ตลาดหลักทั่วโลกทั้งอเมริกา ยุโรป จีนไม่ดี ดังนั้นจึงต้องรีบเร่งแสวงหาตลาดใหม่ เจรจา FTA ที่ยังคั่งค้างกับประเทศต่างๆ ให้เร็วที่สุด เช่น FTA EU เพื่อไม่ให้เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน และรัฐบาลจะต้องหาแนวทางขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวสำคัญ อย่างการท่องเที่ยวเพื่อให้ได้นักท่องเที่ยวตามเป้าหมายคือ 30 ล้านคน และเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพสามารถจับจ่ายใช้สอยเต็มที่เพื่อทำให้เม็ดเงินอัดฉีดเข้ามาในระบบ