xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ขานรับครม.นัดแรกจ่อลดค่าพลังงานยกแผงย้ำช่วยตรงจุดลดค่าครองชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท. หนุนนโยบายรัฐบาลใหม่ที่เตรียมลดราคาพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟ ค่าน้ำมัน ในการประชุมครม.นัดแรกทันที ชี้ลดค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนภาคการผลิต แนะกระตุ้นศก.ควบคู่ไปพร้อมกันดันศก.ปลายปี แต่ย้ำขึ้นค่าแรงปีนี้ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสมท่ามกลางศก.อ่อนแอทั้งในประเทศและโลก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)
เปิดเผยถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นัดแรกจะมีการพิจารณาการปรับลดราคาไฟฟ้า และน้ำมัน ว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและทำได้ทันใจกับสิ่งที่ประชาชนได้คาดหวังไว้ตามที่ได้มีการหาเสียงในช่วงการเลือกตั้ง ส่วนจะลดลงอย่างไรและอัตราใดนั้นคงต้องรอดูความชัดเจนแต่แนวทางดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการลดค่าครองชีพของประชาชนและต้นทุนภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) อย่างไรก็ตามเห็นว่าควรจะทำคู่ขนานไปกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงปลายปีนี้

“ ส.อ.ท.เองได้เคยเรียกร้องมา 6-7 เดือนแล้วถึงกรณีค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft)ที่อยากให้ทบทวนที่จะไม่ปรับตัวสูงเกินไปเพราะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้วยังบั่นทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยด้วยเพราะหากเทียบกับคู่แข่งทางการค้าที่ส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันเมื่อต้นทุนสูงกว่าย่อมเสียเปรียบ”นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ภาคการผลิตที่ผ่านมาเมื่อมีต้นทุนสูงเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องปรับราคาสินค้าซึ่งสุดท้ายก็กระทบกับค่าครองชีพประชาชน การลดค่าพลังงานจึงนับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอและเป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องชาวบ้าน อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญเมื่อมีการปรับลดค่าพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่เป็นน้ำมันเศรษฐกิจที่ใช้มากสุดและยังมีผลต่อต้นทุนการขนส่งภาครัฐก็จำเป็นต้องดูแลราคาสินค้าให้มีการปรับราคาอย่างเหมาะสมประกอบด้วยโดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2566 ที่เหลือเพียง 4 เดือนนี้เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานนายเกรียงไกรกล่าวว่า ไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสมเพราะแง่ของผู้ประกอบการคือการเพิ่มรายจ่ายที่มากขึ้นและท้ายสุดก็จะกระทบต่อแรงงานเนื่องจากขณะนี้ต้นทุนรวมของผู้ประกอบการได้ปรับตัวสูงทั้งจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาวัตถุดิบ ฯลฯ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัวโดยเฉพาะจากหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงที่ทำให้การส่งออกและการขายสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น