xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนจับตาตั้งรัฐบาลใหม่ลุ้นจบ ส.ค.นี้ หวังคัดทีม ศก.เข้าใจปัญหาลุยแก้ไขทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอกชนเกาะติดการจัดตั้งรัฐบาลหวังทุกฝ่ายเร่งให้จบโดยเร็วภายใน ส.ค.นี้ หากยืดเยื้อแถมมีม็อบลงถนนจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้วให้เปราะบางเพิ่มขึ้น เผยตั้งแต่ยุบสภาฯทำให้เกิดภาวะสุญญากาศนโยบายขับเคลื่อน ศก. จี้คัดเลือกทีมเศรษฐกิจที่เข้าใจปัญหา มีประสบการณ์ ไม่ใช่มัวแต่แย่งเค้กชิงกระทรวงที่มีงบประมาณสูง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนยังคงจับตาสถานการณ์การเมืองใกล้ชิด โดยยังคงคาดหวังให้การเลือกนายกรัฐมนตรีได้ข้อสรุปโดยเร็วเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนดภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นจุดที่ภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ได้ประเมินและคำนวณความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในจุดที่รับได้และหากล่าช้าออกไปจากนี้ก็หมายถึงความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

“นับตั้งแต่เลือกตั้งมาก็ใช้เวลาใกล้จะ 3 เดือนแล้วในการรอรัฐบาลใหม่ หากการจัดตั้งยิ่งช้าก็ยิ่งกระทบ และการชุมนุมนั้นหากไม่มีความรุนแรงเศรษฐกิจไทยก็จะยังคงเติบโตได้เมื่อเทียบกับปีก่อนแต่จะมากน้อยเพียงใดยังอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจโลก และการเร่งจัดตั้งรัฐบาลของไทยด้วย ซึ่งหากถามว่าอยากเห็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นอย่างไรก็อยากได้ผู้ที่มาเป็นแต่ละกระทรวงมีความรู้ มีวิสัยทัศน์และประสบการณ์ทำงานได้ทันทีเพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยวันนี้ต้องเร่งแก้ไข” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีความเปราะบางจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้การส่งออกของไทยปีนี้จะติดลบ ขณะที่ท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะเป็นแรงหนุน ภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังสูง ปัญหาภัยแล้ง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่กำลังรอให้รัฐบาลใหม่มาเร่งดูแล ดังนั้นการเมืองหากมีม็อบเดินลงถนนอาจกระทบต่อเชื่อมั่นซึ่งการท่องเที่ยวกำลังเข้าสู่ไฮซีซัน

ส่วนการลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติรายเดิมที่ลงทุนอยู่แล้วกลุ่มนี้อาจรอได้ เพราะคุ้นเคยกับสภาพสังคมและการเมืองไทยเป็นอย่างดี รวมทั้งนักลงทุนจีนที่ประกาศการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ต่างชาติรายใหม่ที่เป็นกลุ่ม New S-Curve ไฮเทคโนโลยีที่ไทยต้องการดึงมาลงทุนจากสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งอยู่ระหว่างการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตอาจลังเลและเลือกลงทุนประเทศอื่นแทน เพราะตอนนี้การแข่งขันในภูมิภาคเองมีความร้อนแรง


นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนและประชาชนเองต่างต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องรวมถึงผลกระทบจากภัยแล้งที่คาดว่าจะหนักสุดในรอบหลายทศวรรษซึ่งต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีความเปราะบางสูงจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้เครื่องยนต์สำคัญอย่างส่งออกปีนี้ไม่อาจขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

“หลังยุบสภาฯ เราต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนนโยบายหลักๆ กลายเป็นสุญญากาศ จึงอยากให้เลือกนายกฯ ให้เร็วและรัฐบาลใหม่คัดเลือกทีมเศรษฐกิจที่เข้าใจปัญหาและหาแนวทางแก้ไขได้แบบ “Quick win” ไม่ใช่มัวแต่แย่งเค้กชิงกระทรวงที่มีงบประมาณมากๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยช่วงนี้แย่มากโดยเฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจทั้งรายย่อย-รายเล็ก-รายกลางการค้าชะลอตัวหากสภาพคล่องไม่ดียิ่งไปกันใหญ่เพราะการส่งออกหดตัวต่างประเทศไม่มีออเดอร์ทำให้กระทบเป็นวงกว้าง” นายธนิตกล่าว

เมื่อการส่งออกหดตัวสิ่งที่ห่วงคือการจ้างงาน หลายบริษัทมีการเกษียณก่อนกำหนด (Early Retire) เพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายต้นทุนค่าจ้างแรงงาน หรือกรณีโรงงานยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางภาคใต้ส่วนใหญ่ชะลอการผลิต ลดกะการทำงานรวมถึงปรับลดคนงานถึงขนาดบางโรงงานต้องปิดตัวเพราะไม่มีออเดอร์จากจีน จึงต้องการให้มีรัฐบาลเข้ามาบริหารโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น