xs
xsm
sm
md
lg

ระทึกส่งออกปีนี้อาจติดลบเกิน 2% "ส.อ.ท." จับตา ดบ.ขาขึ้น-ราคาพลังงานขยับสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.อ.ท.” หวั่นส่งออกปีนี้อาจติดลบเกิน 2% รายได้หลังช่วงสิ้นปีอาจไม่เป็นตามเป้า เหตุเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกหวั่นฉุด ศก.โลก แถมฤดูหนาวของประเทศตะวันตกกำลังจะเข้ามาอีก 2-3 เดือนราคาพลังงานเริ่มทยอยสูงซ้ำเติม หากได้รัฐบาลล่าช้ายิ่งกระทบซ้ำซ้อน ชี้สารพัดปัญหาใหญ่รอสะสางทั้งหนี้ครัวเรือน ราคาพลังงาน ภัยแล้ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนมีความกังวลถึงภาคการส่งออกของไทยปี 2566 ที่มีแนวโน้มอาจจะติดลบมากกว่า 2% ได้เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวสูงหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าสุดและส่งสัญญาณจะขึ้นอีก 1-2 ครั้งในช่วงสิ้นปี ประกอบกับในระยะอีก 2-3 เดือนข้างหน้าประเทศแถบตะวันตกจะเข้าสู่ฤดูหนาวซึ่งกดดันในเรื่องของราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อแรงซื้อของโลกที่ลดต่ำ

“คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) ประเมินว่าการส่งออกปี 2566 จะเติบโต 0 ถึง -2% โดยเราคาดหวังว่าในช่วงไตรมาส 4 ของปีจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่และคริสต์มาสเข้ามา แต่ดูเศรษฐกิจโลกแล้วอาจจะเอาไม่อยู่อาจเกิน -2% หลังดอกเบี้ยขึ้นอีก และอีกไม่กี่เดือนก็เข้าฤดูหนาวที่ต้นทุนราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันต่างๆ จะสูงก็จะกดดันเศรษฐกิจประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยรวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ จะเห็นสัญญาณจากการส่งออกไทยเดือน มิ.ย. ติดลบ 6.4% และ 6 เดือนแรกปีนี้ติดลบ 5.4% จึงคงจะต้องติดตามใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะได้อานิสงส์ของการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเข้ามาเสริม แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเท่านั้นและที่สำคัญหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหมดความอดทนแล้วลงถนน มีการประท้วงจะยิ่งฉุดการท่องเที่ยวลงได้อีก ดังนั้นจึงอยากเห็นการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุดและควรจะมีความชัดเจนภายใน ส.ค.นี้

“ดอกเบี้ยของไทยนั้นแม้จะเป็นขาขึ้นแต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็พยายามบริหารโดยให้สอดรับกับเงินเฟ้อของไทยเองไม่ได้สะท้อนตามกลไกเฟดทั้งหมด แต่สิ่งที่เรากังวลมากไปกว่านั้นคือการที่หนี้ภาคครัวเรือนสูตรใหม่ไทยสูงถึง 90.6% ต่อจีดีพี แตะ 16 ล้านล้านบาท สูตรนี้ไม่รวมหนี้นอกระบบแต่ถ้ารวมคิดเป็น 120% จึงน่าเป็นห่วงที่ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้โดยเร็ว และผมคิดว่านี่คือระเบิดเวลาของเศรษฐกิจไทยที่สูง จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่” นายเกรียงไกรกล่าว

เช่นเดียวกับราคาพลังงานทั้งน้ำมันและค่าไฟที่ระยะต่อไปอาจจะได้รับผลกระทบจากเชื้อเพลิงที่สูงหลัง ซาอุดีอาระเบียประกาศขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน โดยสมัครใจ ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 66 และใกล้สิ้นปีที่สหรัฐฯ และยุโรปเข้าสู่ฤดูหนาวที่จะมาถึงความต้องการใช้จะเพิ่มจะทำให้น้ำมันเป็นช่วงขาขึ้น ซึ่งรัฐบาลใหม่เองคงจะต้องเร่งเข้ามาบริหารจัดการเพราะแต่ละพรรคการเมืองก็มีนโยบายที่จะดูแลค่าพลังงานให้เหมาะสมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ปัญหาโลกร้อนที่หลายฝ่ายมองว่าโลกกำลังเดือดจากอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้สภาพอากาศแปรปรวนอย่างมาก โดยผลกระทบของไทยกำลังเผชิญกับเอลนีโญที่จะประสบกับภาวะภัยแล้งหนักจำเป็นต้องเร่งติดตามและวางแผนรับมืออย่างใกล้ชิด ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยรัฐบาลใหม่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนหากไม่เตรียมตัวอาจจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม

“มีหลายปัจจัยเศรษฐกิจที่หนักพอสมควรที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไข จึงอยากเห็นการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพราะล่าสุดเกาหลีใต้เองเผชิญอากาศร้อนมากทั้งที่ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นแล้วก็อยู่ไม่ไกลจากไทย นั่นบ่งชี้ว่าความร้อนกำลังเพิ่มขึ้นและเริ่มมาใกล้ไทยอีกจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเร่งรับมือ” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น