ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) เดือน ก.ค.66 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 36.0 จาก 35.0 ในเดือน มิ.ย.66 ขณะที่ดัชนี 3 เดือนข้างหน้ายังคงทรงตัวที่ 38.8 จาก 38.6 ในเดือน มิ.ย.66 โดยการเพิ่มขึ้นของดัชนีในเดือน ก.ค. เป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบของดัชนี สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยซึ่งมีแรงหนุนจากการกลับมาฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ โดย ณ สิ้นเดือน ก.ค.66 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศราว 15.3 ล้านคน ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนต่อเนื่องไปยังรายได้และการจ้างงานของครัวเรือนให้ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว
ทั้งนี้ จากผลสำรวจเพิ่มเติมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับสถานการณ์จ้างงานในองค์กรของครัวเรือนในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ครัวเรือนส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่มีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงใดๆ ในองค์กร ขณะที่การชะลอการรับพนักงานใหม่ การลดเวลาการทำงานล่วงหน้า (OT) และการเลิกจ้างมีสัดส่วนลดลงแสดงถึงทิศทางการปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงานไทยจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค.66 ครัวเรือนไทยมีระดับความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าและค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ลดลง แม้ว่าราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงผันผวนและปรับสูงขึ้นในเดือน ก.ค.66 แต่ราคาพลังงานเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ในประเทศยังถูกตรึงไว้ที่ระดับเดิม เช่น ราคาก๊าซหุงต้มยังอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร และค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.66 อยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย และงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 มีแนวโน้มจะปรับลดลงที่ระดับ 4.45 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ ครัวเรือนมีความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้สินลดลงโดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ระบุว่า ยอดผ่อนบัตรเครดิตจากการซื้อสินค้าคงทนหมดลง อีกทั้งมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาอาจช่วยคลายความกังวลของครัวเรือนที่มีต่อภาระหนี้สินได้ในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการสำรวจเพิ่มเติมถึงประเด็นความกังวลเกี่ยวกับภาวะการครองชีพของครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยประเด็นที่ครัวเรือนมีความกังวลมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ 1) ค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง เช่น ค่าไฟฟ้า เป็นต้น 74.9% 2) รายได้และการจ้างงาน 50.7% และ 3) ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น เช่น ก่อหนี้เพิ่ม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูง เป็นต้น 38.1% นอกจากนี้ ครัวเรือนมีความกังวลในประเด็นอื่นๆ รองลงมาตามลำดับ ได้แก่ สุขภาพของตนเองและครอบครัว (37.8%) และความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลอาจมีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ (34.5%) การนำเงินออมออกมาใช้มากขึ้น (20.0%) และผลกระทบจากสภาพอาหารที่แปรปรวน เช่น ผลผลิตทางการเกษตรลดลง เป็นต้น
ในระยะข้างหน้าคาดว่า ดัชนี KR-ECI จะยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง เนื่องจากแม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องโดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญที่จะเข้ามาหนุนรายได้และการจ้างงานของครัวเรือน อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยท้าทายอื่นๆ ที่อาจเข้ามากระทบต่อดัชนีในระยะข้างหน้า ทั้งปัจจัยภายนอกประเทศอย่างการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้ามากดดันภาคการส่งออกของไทย และการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนจากการส่งผ่านต้นทุนผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค สภาพอากาศที่แปรปรวนจากผลของปรากฏการณ์เอลนีโญในระยะข้างหน้า และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงอยู่ในสภาวะสุญญากาศยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม