กกร.ยังคงกรอบจีดีพีปี 2566 เติบโต3-3.5% ส่งออก -2 ถึง 0% ห่วงภาวะภัยแล้ง สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท จัดตั้งรัฐบาลยิ่งล่าช้ายิ่งกระทบ ศก.
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนสิงหาคม 66 เปิดเผยว่า กกร.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ขยายตัว 3-3.5% ส่งออก -2 ถึง 0% เงินเฟ้อ 2.2-2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีเผชิญผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรป และความกังวลเงินเฟ้อ ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินการเติบโตเศรษฐกิจโลกเพียง 3%
สำหรับปีนี้ปัญหาภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมากกว่าคาด เพราะปริมาณน้ำฝนสะสมช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. 66 ต่ำกว่าปกติในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลางมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติถึง 40% โดยประเมินว่า ภัยแล้งอาจสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 53,000 ล้านบาท รัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาภัยแล้งและผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 66 ถึงครึ่งแรกปี 67
"จากการหารือร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทราบว่าภาครัฐรับจัดทำ Water Balance ของแต่ละอ่างเก็บน้ำใหม่ และทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากเอลนีโญ" นายผยงกล่าว
ส่วนภาคท่องเที่ยวแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมในปีนี้มีโอกาสที่จะฟื้นตัวเป็นไปตามคาดที่ 29-30 ล้านคน แต่การใช้จ่ายต่อหัวยังต่ำอยู่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาเต็มที่ ทำให้การฟื้นตัวของบางจังหวัดท่องเที่ยวยังช้า ขณะที่แรงส่งต่อเศรษฐกิจจากอุปสงค์ภายในประเทศเผชิญปัจจัยท้าทายมากขึ้น จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยต่อคนยังอยู่ต่ำกว่าปี 2562 ภาคครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ และห่วงว่าเศรษฐกิจจะถดถอย ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ประกอบกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับลดลง มีความกังวลต่อความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมือง การทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐ และการชะลอตัวของการส่งออก ที่ประชุม กกร.จึงมีความเป็นห่วง และต้องการเห็นการเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่โดยเร็ว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนมีการติดตามและเฝ้าดูในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะออกมาอย่างไร โดยคาดหวังว่าน่าจะจบและเห็นรัฐบาลชุดใหม่ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หากมีรัฐบาลใหม่ได้จริงก็จะทำให้แผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะในด้านความเชื่อมั่นการลงทุนจากต่างประเทศ การท่องเที่ยวจะกลับมาดีเพิ่มขึ้น ยิ่งยืดเยื้อแม้จะดูว่าท่องเที่ยวดีแต่จะเป็นการท่องเที่ยวแบบใช้จ่ายเงินน้อยลงเพราะไม่มั่นใจการเมือง
"เวลานี้ภาคการส่งอออกของไทยก็ติดลบมาถึง 9 เดือนแล้ว หากการจัดตั้งรัฐบาลช้าจะยิ่งทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในหลายๆ ด้านจะกระทบไปด้วย และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคไหนภาคเอกชนก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าอยู่แล้ว" นายเกรียงไกลกล่าว