xs
xsm
sm
md
lg

ศก.โลกชะลอตัวสศอ.ปรับประมาณการMPIปี66หดตัว 2.8 - 3.8 %

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.14 ลดลง 4.43% 7 เดือนแรกปีนี้หดตัว 4.54% หลังส่งออกติดลบต่อเนื่องจากศก.โลกชะลอตัว ส่งผลให้ปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2566 คาดหดตัว 2.8 - 3.8% และ GDP ภาคอุตสาหกรรม หดตัว 1.5 - 2.5%

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.14 ลดลง 4.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.19% เป็นผลจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงลดลง หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากกำลังซื้อในตลาดโลกลดลง ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ กลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก รวมถึงรายได้เกษตรกรในเดือนมิถุนายน 2566 ยังคงหดตัว 1.%1 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน สะท้อนกำลังซื้อจากภาคเกษตรที่ยังคงลดลง

ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าปกติ และมีผลต่อผู้ประกอบการกลางน้ำถึงปลายน้ำของไทย อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในประเทศยังคงขับเคลื่อนได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ หลังจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อตอบสนองในประเทศยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.7%


อย่างไรก็ตาม 7 เดือนแรกของปี 2566 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ 95.11 หดตัว 4.54% ส่งผลให้ สศอ. ปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2566 คาดว่าจะหดตัว 2.8 - 3.8% ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม ครึ่งปีแรก ปี 2566 หดตัว 3.2% ทำให้คาดว่าปี 2566 จะหดตัว 1.5 - 2.5% โดยมีปัจจัยกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง อีกทั้งปัญหาภาคการเงินของประเทศต่าง ๆ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงสูง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ และภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ขณะเดียวกัน ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวดี การลงทุนในประเทศ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมีความชัดเจนทางการเมืองที่รัฐบาลใหม่จะเร่งมาตรการดูแลค่าครองชีพและการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นที่คาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น