ส.อ.ท.ห่วงผู้ประกอบการ SMEs ไทยโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกเริ่มออกอาการขาดสภาพคล่องมากขึ้นหลังยอดขายไม่เป็นไปตามแผน เหตุศก.โลกชะลอฉุดส่งออกไทยครึ่งปีแรกติดลบ 5.4% แม้ภาคท่องเที่ยวฟื้นแต่ภาพรวม SMEs ยังคงเผชิญกับต้นทุนสูงท่ามกลางดบ.ขาขึ้นและแรงซื้อในประเทศยังลดต่ำหลังหนี้ครัวเรือนพุ่ง หวังรัฐบาลใหม่เร่งออกมาตรการดูแลด่วน
นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.มีความกังวลถึงความอยู่รอดของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(SMEs)ที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องมากขึ้นหลังจากต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิต และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นต่อเนื่อง แต่รายได้กลับสวนทางลดต่ำลงเนื่องจากแรงซื้อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศปี 2566 ภาพรวมต่างชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐบาลใหม่จำเป็นจะต้องหามาตรการมาช่วยเหลือในการให้SMEsเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพยุงเศรษฐกิจเร่งด่วน
“ SMEs เผชิญกับโควิด-19 จากนั้น ก็ต้องมารับมือกับต้นทุนต่างๆที่สูงทั้งวัตถุดิบและราคาพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และเมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายในปี 2566 ก็ต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวทำให้เศรษฐกิจไทยเองก็เติบโตได้ไม่ดีนัก ประกอบกับเศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงกระทบต่อแรงซื้อที่ลดต่ำ การชำระหนี้ของ SMEs จึงเป็นปัญหาจากยอดขายที่ไม่ดีนักและเมื่อจะต้องกู้เงินใหม่การทำแผนธุรกิจที่จะต้องเสนอแผนการชำระหนี้ซึ่งก็คือรายได้จากการขายหรือส่งออกท่ามกลางตลาดที่ถดถอยจึงไม่ง่ายที่สถาบันการเงินจะปล่อยเพิ่ม”นายอภิชิตกล่าว
ปัจจุบันภาคการผลิตและส่งออกของไทยถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยคิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) และธุรกิจส่วนใหญ่มี SMEs อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจำนวนมากที่ต้องยอมรับว่าภาคส่งออกของไทยครึ่งปีแรกของปี 2566 หดตัว 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและแม้แต่การค้าชายแดนเองก็ปรับตัวลดลงจึงกระทบต่อ SMEs ภาพรวมที่บางส่วนต้องปรับลดกำลังการผลิตลงตามคำสั่งซื้อที่ลดต่ำ และหากปัญหานี้ยังคงมีมากขึ้นอาจต้องปิดตัวลงซึ่งส.อ.ท.กำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในภาคท่องเที่ยวและบริการถือเป็นโอกาสที่ดีเมื่อท่องเที่ยวไทยเริ่มทยอยฟื้นตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น แต่ SMEs ภาพรวมต่างก็ประสบกับภาวะกับต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 66 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็น 2.25% จากเดิม 2.00% ต่อปีซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงแต่ทางกนง.ก็ส่งสัญญาณว่าอาจจะไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยต่อจึงเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้ประกอบการทุกระดับในระยะต่อไป
“ ต้นทุนต่างๆ เราก็คาดหวังว่าจะดีขึ้นทั้งต้นทุนทางการเงินที่ดอกเบี้ยน่าจะชะลอการปรับเพิ่มขึ้นอีก ขณะเดียวกันในส่วนของค่าไฟฟ้างวดก.ย.-ธ.ค.66 ที่ปรับลดลงมาเล็กน้อยก็ทำให้ต้นทุนรวมมีทิศทางที่ดีขึ้นแต่ปัจจัยเสี่ยงหลักก็ยังคงมีสูงโดยเฉพาะแรงซื้อทั้งในและนอกประเทศที่ชะลอตัว ขณะเดียวกันสิ่งที่กังวลคือสินค้าจีนเองก็เริ่มทะลักเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้นและเป็นสินค้าราคาต่ำทำให้เห็นว่ารัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้”นายอภิชิตกล่าว
อย่างไรก็ตามส.อ.ท.ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดงาน SME GP DAY : รัฐพร้อมซื้อ SME พร้อมขาย โดยนำสินค้าและบริการของ MSME กว่า 150 กิจการมาจัดแสดงพร้อมให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2566 นี้ ณ HALL 8 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยคาดสามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท