ศูนย์วิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2/2566 ขยายตัว 1.8%YoY เติบโตชะลอลงจากไตรมาสที่ 1/2566 ที่ขยายตัว 2.6% และเมื่อเทียบรายไตรมาสขยายตัว 0.2%QoQSA โดยเศรษฐกิจชะลอลงจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวทั้งการอุปโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน และการส่งออกบริการขยายตัวต่อเนื่อง โดยสภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 จาก 2.7-3.7% เหลือ 2.5-3.0%
ทั้งนี้ ปัจจัยที่จับตาเป็นการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่ล่าช้าอาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในช่วงปลายปี โดยประเมินว่าการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีแนวโน้มล่าช้าออกไปอย่างน้อย 1 ไตรมาส ซึ่งจะกระทบต่อการเบิกใช้จ่ายงบประมาณด้านการลงทุนเป็นหลัก ขณะที่เบิกจ่ายรายจ่ายประจำสามารถดำเนินได้ตามกรอบงบประมาณเดิมในปีก่อน โดยคาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อาจได้รับผลกระทบประมาณ 5-7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.2-0.4 % ของ GDP ปี 2566
ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวแผ่วลง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แม้จะมีแนวโน้มจำกัดค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวจากภาวะเศรษฐกิจในบางประเทศที่ชะลอตัว แต่จะยังส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชนหลายตัวเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในเดือนกรกฎาคม จากความกังวลต่อผลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล การส่งออกหดตัว ภาวะเอลนีโญ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ด้งนั้น ในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำจากการส่งออกไทยจากเศรษฐกิจจีนที่แผ่วลง รวมถึงความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง จากความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณและโครงการลงทุนภาครัฐ ตลอดจนความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลใหม่
ด้านอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากปัจจัยเอลนีโญที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและราคาอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น ปัจจัยที่จะทำให้ราคาพลังงานในประเทศเร่งตัวกว่าช่วงครึ่งแรกของปี เช่น การเร่งตัวของราคาน้ำมันโลกจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ในช่วงที่อุปสงค์น้ำมันโลกเริ่มสูงขึ้น และแนวทางการบริหารจัดการภาระอุดหนุนราคาน้ำมันที่ภาครัฐเคยสนับสนุนไว้ รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ ซึ่งอาจทำให้มีการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม SCB EIC คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 ครั้งสู่ Terminal rate ที่ 2.5% ในเดือน ก.ย. และคงไว้ที่ระดับดังกล่าวตามเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องสู่ระดับศักยภาพในระยะปานกลาง และอัตราเงินเฟ้อที่แม้จะกลับมาอยู่ในกรอบแต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูง รวมทั้งเป็นการสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องมีผลทำให้ต้นทุนการระดมทุนในตลาดสินเชื่อและตลาดพันธบัตรปรับสูงขึ้น และอาจกระทบความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพสินเชื่อได้ในระยะถัดไป
**บาทผันผวนรับความไม่แน่นอนทางการเมือง**
นอกจากนี้ ในระยะสั้นเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าและผันผวนสูงจากหลายปัจจัย โดยระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นปัจจัยหลักกำหนดทิศทางเงินบาท ในช่วงปลายปีนี้คาดว่าเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นได้ ณ สิ้นปีอยู่ที่ 33.50-34.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่น่าจะลดลงหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจแข็งค่าได้ไม่มากจากเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอกว่าที่เคยคาดไว้